fbpx

ฟังเพลงไปด้วย อ่านหนังสือไปด้วย ดีไหม?

Share This Post

Share on email
Share on facebook
Share on twitter

เทคนิคการเรียนอันนี้ถือว่าเป็นอันที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก คือว่า ควรจะฟังเพลงไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วยดีไหม  หรือว่าเปิดทีวีไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย ได้หรือเปล่า

จริงอยู่ที่ว่าถ้าเราอ่านหนังสืออย่างเดียวเงียบๆ เราจะมีสมาธิมากกว่า เพราะไม่มีอะไรมาทำให้เราวอกแวก แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารเยอะมาก และมีอะไรมาทำให้เราวอกแวกได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นทีวี เพลง อีเมล์ โทรศัพท์มือถือ  ถึงขั้นมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าคนในปัจจุบันนี้มีattention span หรือช่วงเวลาที่ให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ลดลงมากกว่าสมัยก่อนมากทีเดียว ซึ่งถ้าเราพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนตามไปตามเทคโนโลยีแล้ว เราก็คงจะเห็นด้วยทีเดียว  ลองสังเกตดูซิคะว่า เด็กๆสมัยนี้เขาจะทำอะไรแป๊ปๆก็เปลี่ยนไปทำอีกอย่างหนึ่งแล้ว หรือลองเปรียบเทียบกับตัวเองเมื่อก่อนดูก็ได้ เมื่อก่อนม่อนว่าม่อนมีสมาธินานกว่านี้เยอะ เพราะไม่มีอะไรมาทำให้เราวอกแวกเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้ แป๊ปๆก็เช็คอีเมล์ เดี๋ยวก็ฟังเพลง

มองเผินๆก็เหมือนว่าการที่เรามีสมาธิสั้นลงจะเป็นเรื่องที่แย่นะคะ แต่ม่อนมองอีกมุมหนึ่งว่ามันอาจจะเป็นทิศทางที่คนเรากำลังเดินไปก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ม่อนฉุกคิดมองเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งก็คือ เรื่องที่อาจารย์เดวิด โรส ที่ฮาร์วาร์ดเล่าให้ฟังเกี่ยวกับลูกชายเขา เดวิด โรสเป็นอาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับการนำความรู้เรื่องสมองมาใช้กับการศึกษา  เขาเล่าให้ฟังว่าภรรยาเขามาปรึกษาเรื่องลูกชายว่า ชอบอ่านหนังสือไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย แล้วก็ยังเปิดทีวีทิ้งไว้พร้อมๆกันอีก เลยอยากให้เดวิดไปช่วยพูดกับลูกให้หน่อย ว่าให้เพลาๆลงบ้าง ให้อ่านหนังสืออย่างเดียว เพราะกลัวลูกจะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง  ซึ่งเดวิดเองก็เห็นด้วย  เมื่อเดวิดลองไปคุยกับลูกชาย ลูกชายเขาก็ตอบว่า “ผมก็สอบได้เกรดเอหมดทุกตัว  พ่อจะเอาอะไรกับผมอีกล่ะ”  ซึ่งมันก็ทำให้เราในฐานะนักการศึกษาฉุกคิดได้ว่า การทำงานหรืออ่านหนังสือโดยที่มีเสียงอย่างอื่นเป็นbackgroundไปด้วย ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป

สมองของคนเรามีความสามารถในการเลือกรับเฉพาะสิ่งกระตุ้นที่มีความสำคัญต่อเราเท่านั้น  โดยสิ่งที่สำคัญนั้นอาจจะหมายถึงสิ่งที่มีความแปลกใหม่(เพราะความแปลกใหม่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรู้ในการดำรงชีวิต อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าสิ่งที่มาใหม่นี้จะเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของเราหรือเปล่า)  หรืออาจจะเป็นสิ่งที่เราสนใจก็ได้  เมื่อเรารับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว เรารู้ว่าสิ่งนั้นไม่มีอันตราย หรือเราเคยชินต่อสิ่งนั้น เราก็จะไม่ค่อยรับรู้สิ่งเหล่านั้น  เหมือนอย่างเช่น ถ้าเราเปิดทีวีเรื่องซ้ำๆ สมองเราจะรู้ว่ามีสิ่งกระตุ้นนั้นๆอยู่ คือ ทีวีเปิดอยู่ แต่เราไม่ได้ให้ความสนใจกับมันอย่างเต็มที่

การฟังเพลงหรือเปิดทีวีเวลาอ่านหนังสือไปด้วย จะคล้ายๆกับเป็น background noise คือ เราไม่ได้สนใจมันเต็มที่ แต่เราก็รู้ว่ามันมีอยู่  แล้วมันจะช่วยเวลาเราอ่านหนังสือได้อย่างไรล่ะ?

เวลาอ่านหนังสือสอบ แน่นอนว่าต้องมีบางเรื่องที่เราไม่ได้สนใจนัก แต่เราก็ต้องอ่านต้องเรียน เลี่ยงไม่ได้  เมื่อเราอ่านสิ่งที่เราไม่ค่อยสนใจ เราก็จะเบื่อ ทำให้เราคงสมาธิไว้ได้เพียงชั่วครู่ เราก็เบื่อ อยากหันไปหาอย่างอื่นที่สนุกกว่า น่าพึงพอใจกว่า  การที่เราเปิดเพลงที่ชอบหรือหนังที่ชอบเป็นbackgroundไว้ กลับทำให้เรานั่งอยู่ติดโต๊ะอ่านหนังสือได้นานขึ้น แล้วก็อ่านได้นานขึ้นด้วย เพราะเรามีสิ่งที่น่าพึงพอใจทำให้เรารู้สึกไม่เบื่อ

อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเราจะมีสมาธิอยู่สองประเภทคือ แบบที่จดจ่อแน่วแน่ อันนี้เป็นแบบที่เราเอาไว้ใช้ทำงาน อีกแบบหนึ่งก็คือแบบที่คอยระแวดระวังเรื่องรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอด คิดดูซะคะว่า สมัยก่อนตอนคนยังอยู่ป่าอยู่ถ้ำ ถ้ามัวแต่สนใจอะไรอย่างเดียว ไม่สนใจสิ่งรอบข้างเลย มีหวังโดนเสือจับไปกินแน่  ลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ค่ะ เวลาเราอ่านหนังสืออยู่ ถ้าไม่ได้สนุกมากๆจริงๆ เวลามีใครเดินไปเดินมา เราก็ยังเห็นอยู่ด้วยชายตา อันนี้แหละคะที่เป็นสมาธิแบบที่สองที่คอยช่วยให้เราระมัดระวัง   ซึ่งการที่เราเปิด background noise ไปด้วยเวลาทำงาน จะเป็นตัวดึงสมาธิแบบที่สองออกไปจากเรา ทำให้เราแยกสมาธิแบบที่หนึ่งมาใช้ได้ง่ายขึ้น  ม่อนสังเกตตัวเองว่าพอเพลงไปด้วยแล้ว จะไม่ค่อยวอกแวกเท่าไหร่

ม่อนเองเคยรู้สึกแย่เวลาที่ฟังเพลงไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย จะพยายามไม่ฟังอะไร พยายามอ่านแบบเงียบๆ แต่พอได้ฟังอาจารย์พูดให้ฉุกคิดก็ลองทำดู ลองคิดว่า ถ้าอะไรช่วยให้เราอ่านหนังสือได้นานขึ้นก็ไม่น่าจะผิด  ปรากฏว่า ได้ผลดีมากๆเลยค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าพอฟังเพลงไปด้วย อ่านหนังสือได้เป็นชั่วโมงๆ แถมอ่านรู้เรื่องดีด้วย หรือแม้กระทั่งฟังเพลงไปด้วย เขียนรายงานไปด้วย ก็ยังทำให้สมองแล่นดี

แต่มีข้อแม้อยู่บ้างนะคะ ในการใช้วิธีนี้  เพราะสมองคนเราจะให้ความสนใจกับสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้นถ้าเราเอาเพลงใหม่ๆหรือหนังใหม่ๆมาเปิดจะใช้ไม่ได้ผลค่ะ เราจะหันไปสนใจกับเพลงหรือหนังนั้นแทน ก็เราไม่เคยดูไม่เคยฟัง มันก็ต้องน่าสนใจกว่าหนังสือเรียนอยู่แล้วใช่ไหมคะ  และสิ่งที่จะเอามาเป็นbackground noiseก็ไม่ควรเป็นสิ่งกระตุ้นที่ไม่พึงปรารถนา เช่น เพลงอกหัก ก็ไม่ค่อยดีหรอกค่ะ เพราะเราจะนำมันไปเชื่อมกับการอ่านหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องเศร้าไปซะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็แล้วแต่บุคคลด้วยนะคะ ม่อนแนะว่าอยากให้เอาตัวเองเป็นตัวทดลองว่า แบบไหนทำให้เราอ่านหนังสือดีกว่ากัน สำหรับบางคนอาจจะต้องเงียบจริงๆถึงจะอ่านหนังสือได้ (บางคนขนาดแอร์ดัง ก็อ่านไม่รู้เรื่องก็มีนะ) แต่บางคนพอใช้background noiseเข้าช่วยแล้วจะดีขึ้น ก็ลองดูคะว่าแบบไหนดีกว่ากัน ถ้าฟังเพลงไปด้วยแล้วดีกว่า ก็ลองดูว่าเพลงแบบไหนดีกับเราที่สุด

สำหรับม่อนเองมีข้อสังเกต คือ

-ถ้าเป็นเพลงภาษาต่างประเทศจะดีกว่าภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เพราะเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่องร้องตามไม่ได้ ทำให้ไม่เสียสมาธิในการร้องตาม หรือคิดตาม  หลายๆครั้งก็เลยฟังเพลงจีนค่ะ (จะได้แอบฝึกการฟังสำเนียงจีนไปด้วยในตัว)

อ่านหนังสือกับเพื่อน

-ชอบเพลงเร็วค่ะ ถ้าเพลงช้าจะหลับได้

-ไม่ค่อยชอบเปิดหนังหรือทีวีตอนอ่านหนังสือค่ะ เพราะรู้สึกว่ามันน่าสนใจเราจะคิดตาม ถึงแม้ว่าจะดูแล้วหลายรอบก็ตาม ม่อนเลยตัดเรื่องเปิดทีวีทิ้งไป  แต่บางคนก็เปิดทีวีก็ช่วยได้นะ

-ม่อนใช้เพลงบรรเลงช่วยไม่ค่อยได้ผล อาจจะน่าเบื่อเกินไปสำหรับม่อน แต่ก็มีเพื่อนหลายคนใช้เพลงบรรเลง เพลงคลาสสิก ก็ช่วยได้เหมือนกันคะ

-ม่อนจะเปิดเพลงเฉพาะเวลาที่อ่านหนังสืออะไรที่ไม่ต้องคิดมาก พอถึงเวลาที่ต้องคิดอะไรยากๆ เช่น conceptual structureของเรื่องที่อ่าน ก็จะปิดเพลงค่ะ ตัวเราจะรู้เองว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าเพลงที่เปิดมันน่ารำคาญก็คือ มันกลายเป็นส่วนเกิน แทนที่จะเป็นตัวช่วยค่ะ  ก็ให้ปิดเพลงซะ

ก็ลองดูนะคะ จะได้ค้นพบตัวเองว่า นิสัยการอ่านหนังสือของเราเป็นแบบไหน

More To Explore