ม่อนมีโอกาสได้ไปเที่ยวอังกฤษมาค่ะ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยชอบอากาศที่นั่นเท่าไหร่ แต่รู้สึกได้ถึงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานของที่นั่น โดยเฉพาะเมื่อม่อนได้ไปเห็นประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของนักปราชญ์นักคิดของที่อังกฤษ ทำให้รู้สึกประทับใจมาก เป็นแรงบันดาลใจให้อยากพัฒนาตัวเองจนสามารถคิดค้นอะไรให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังได้ เหมือนอย่างนักปราชญ์ในรุ่นก่อนๆค่ะ ม่อนจะมาพยายามทยอยถ่ายทอดสิ่งที่ไปเห็นมาให้ทุกๆคนได้อ่านกันนะคะ
เริ่มจากที่ลอนดอนก่อนเลยดีกว่าค่ะ ที่ที่ม่อนประทับใจมาก คือ ที่British library ซึ่งเป็นคล้ายๆหอสมุดแห่งชาติของเรานี่แหละคะ ที่นี่จะมีหนังสือที่พิมพ์ในอังกฤษทุกเล่ม แต่ที่น่าสนใจไม่ใช่ตรงนี้ค่ะ แต่เป็นห้อง”สมบัติ” ที่เป็นที่เก็บและแสดงหนังสือและเอกสารที่สำคัญของชาติ และของโลกเลยทีเดียว น่าเสียดายที่ข้างในถ่ายรูปไม่ได้ เลยได้แค่มาเขียนเล่าให้ทุกๆคนฟังแทนค่ะ
Literature corner
ที่นี่มีงานเขียนของ Shakespeare ในชุด Shakespeare’s first folio ค่ะ แต่ในมุมนี้ที่ม่อนชอบมากคือ มี Alice in Wonderland ซึ่งเป็นฉบับจริงที่เขียนขึ้นจากลายมือของ Lewis Corroll (ชื่อจริงของผู้เขียน คือ Charles Lutwidge Dodgson) ซึ่งฉบับนี้เป็นของขวัญที่ Lewis เขียนให้กับ Alice เป็นของขวัญ และเล่มนี้ Alice ก็เป็นคนบริจาคให้กับห้องสมุดเองด้วย โดยฉบับนี้ใช้ชื่อว่า Alice’s Adventure under Ground ซึ่งเป็นที่มาของ Alice in Wonderland ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีAlice ฉบับอื่นๆอีกเยอะมาก ทั้งฉบับเด็ก ฉบับที่ดัดแปลงตามภาษาต่างๆ แม้กระทั่ง ฉบับที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญของเบียร์Guinnessก็ยังมีเลยค่ะ ทำให้เราได้เห็นถึงอิทธิพลของงานเขียนที่มีต่อคนอ่านทั่วโลก ดูแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราเห็นว่างานวรรณกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เป็นสิ่งที่สร้างแล้วมีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังๆสืบต่อเรื่อยๆมาค่ะ ที่gift shop มีหนังสือที่ทำเลียนแบบ original manuscript เล่มนี้ด้วย ม่อนก็เลยซื้อมาซะเลย
นอกจากนี้ก็ยังมี handwritten note ของ Virginia Woolf ที่เขียนขณะแต่ง Mrs. Dalloway (ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็น The Hours ค่ะ)
Music Corner
มุมนี้ม่อนเองอาจจะดูไม่ค่อยลึกซึ้งเท่าไหร่ เพราะไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิกบ่อยนักค่ะ ที่สำคัญก็มี สัญญาการแต่งงานของโมสาร์ต ส้อมเสียงของบีโทเฟน แล้วก็มีเนื้อเพลง A Hard Days Night ที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งเป็นเพลงของ the Beatles ค่ะ
Science Corner
ในฐานะที่เป็นครูวิทยาศาสตร์ ม่อนชอบมุมนี้มากๆเลย มุมนี้มีสมุดจดบันทึกของ Robert Hooke ที่เป็นผู้ค้นพบเซลล์เป็นคนแรก แล้วก็มีจดหมายที่ Antonie Van Leeuwenhoek ซึ่งเป็นผู้ค้นพบสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในน้ำ ที่เขียนมาถึงสมาคมวิทยาศาสตร์ในอังกฤษว่าเขาค้นพบ”ทอง”ในน้ำ ที่สามารถโตได้ค่ะ ซึ่งตอนหลังเราก็มารู้กันว่า “ทอง”ที่ว่านี้ก็คือ สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวในน้ำนี่เอง ม่อนคิดว่าที่เรียกว่าทองก็เพราะว่าเวลาเห็นในกล้องจุลทรรศน์สมัยนั้นก็คงจะเป็นสีเหลืองๆคล้ายทองค่ะ นอกจากนี้ยังมีงานของ Leonardo da Vinci ที่เขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ รวมถึงงานประดิษฐ์คิดค้นของเขาด้วยค่ะ ถึงแม้ว่า da Vinciจะเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินมากกว่า แต่เขาก็มีงานทางวิทยาศาสตร์เยอะทีเดียวค่ะ
Printing Section
ส่วนนี้แสดงให้เห็นถึง หนังสือที่ผลิตจากการพิมพ์ในยุคแรกๆ ที่น่าสนใจมากก็คือ เวลานึกถึงการประดิษฐ์เทคโนโลยีการพิมพ์เรามักจะนึกถึง Gutenberg แต่จริงๆแล้วที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี คิดวิธีการพิมพ์ได้ก่อน Gutenberg ตั้งหลายร้อยปี โดยใช้การแกะไม้เป็นตัวพิมพ์แล้วพิมพ์บนกระดาษ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เขาเอามาแสดงให้เราดู ก็เป็นพระไตรปิฏกหรือหนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธค่ะ เห็นแล้วก็รู้สึกภูมิใจที่คนเอเชียเราเก่ง คิดการพิมพ์ได้ก่อนฝรั่งอีก แต่ที่เทคโนโลยีของจีนไม่แพร่หลายก็เพราะว่าไม่เหมาะสมกับการทำเพื่อการค้าค่ะ แต่วิธีของ Gutenberg เป็นครั้งแรกที่ทำให้การพิมพ์หนังสือถูกลงมากจนสามารถขายให้คนทั่วไปได้ ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติด้านความรู้กันเลยทีเดียว ลองคิดดูซิค่ะว่าพอทุกคนมีหนังสือได้ ความรู้ก็แพร่กระจายได้หลากหลาย การสะสมความรู้ของมนุษยชาติก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
นอกจากนี้ก็ยังมีเอกสารสำคัญๆอีก เช่น Magna Carta ซึ่งเป็นคล้ายๆกฎหมายที่จำกัดสิทธิของกษัตริย์ มีไบเบิลฉบับสำคัญๆ ให้เล่าทุกอันก็คงยาวมากๆค่ะ (ม่อนเองก็จำไม่ได้หมดด้วย) มีส่วนที่เป็นหนังสือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยนะคะ มีหนังสือของไทยอยู่สองสามเล่ม ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้านะคะ แต่หนังสือไม่เก่ามาก อายุประมาณสองร้อยปีที่แล้วค่ะ ก็สมัยรัตนโกสินทร์ของเรานี่เอง
สำหรับ British Library คงพอแค่นี้ก่อนนะคะ แล้วจะมาต่อตอนต่อไปสำหรับที่อื่นๆในอังกฤษค่ะ
ด้านนอกของ British Library
อันนี้ตัวอย่างจาก Alice’s Adventure under Ground ฉบับแรกค่ะ