บางคนอาจจะคิดว่าทำไมต้องลาออก หรือ ต้องเปลี่ยนสายงาน ทำไมไม่ “รักในสิ่งที่ทำ” แทนที่จะเปลี่ยนไป “ทำในสิ่งที่รัก” ซึ่งการที่เวลาใครมาปรึกษาว่าไม่ชอบในสิ่งที่ทำอยู่ จะทำอย่างไรดี แล้วตอบไปว่า “ก็รักในสิ่งที่ทำซิ” แบบนี้ก็เหมือนพูดว่า “ก็ทนๆไปสิ ทำใจให้ชอบก็ชอบเอง อย่าไปเรื่องมากนักเลย” เวลาใครพูดแบบนี้เรามักจะรู้สึกว่าเป็นความผิดของเราเองที่เรื่องมากหรือไม่อดทน ทำไมไม่ทนๆไปเดี๋ยวก็ชอบไปเอง ซึ่งยิ่งคิดแบบนี้ยิ่งหมดกำลังใจ จริงๆแล้วเราต้องมาดูสิว่า คำพูดที่ว่า “ทำใจให้รักที่สิ่งที่ทำ” มันเป็นไปได้มากนักแค่ไหนกัน?
มันคงจะเป็นไปได้ยากนะคะที่คนเราจะได้ทำงานแรกเป็นงานที่ชอบที่สุดได้เลย เราอาจจะต้องไปทำในสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากทำ หรืออย่างน้อยก็อยู่ในสายงานเดียวกันก่อน แล้วค่อยๆหาประสบการณ์จนได้ทำในสิ่งที่เราชอบที่สุดจริงๆ เช่น ถ้าอยากเป็นผู้กำกับหนัง เราก็คงจะต้องไปทำงานเบื้องหลังอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยๆขยับไปเป็นผู้กำกับ ถ้าอย่างนี้ตอนที่เรายังเป็นแค่ผู้ช่วย อาจจะมีบางส่วนของงานที่เราไม่ชอบ แต่เราก็คงทำใจให้ชอบได้ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหนทางไปสู่สิ่งที่เราใฝ่ฝัน ถ้าในกรณีอย่างนี้ จริงค่ะที่ “ทำใจให้รักในสิ่งที่ทำ”เป็นสิ่งที่ดีและเป็นไปได้
แต่ถ้าเราอยากทำงานออกแบบ แต่ดันไปเรียนวิศวะแล้วก็ทำงานวิศวะ ถามว่าจะให้ “ทำใจให้รักที่สิ่งที่ทำ” จะทำได้มากน้อยแค่ไหนกันคะ แล้วจะต้องทนไปอีกนานเท่าไหร่ อีก สามสิบสี่สิบปีแล้วค่อยเปลี่ยนหรือ บางคนอาจจะบอกว่าทำใจไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ชอบเอง ถามหน่อยเถอะค่ะว่า เวลามีใครมาชอบเรามากๆแล้วเราไม่ชอบเขา เราจะเลือกแต่งงานกับเขาไหมคะ ด้วยความคิดที่ว่า “ก็อยู่ๆไปเดี๋ยวก็ชอบไปเอง” คงไม่มีใครคิดแบบนี้เวลาเลือกคู่ แล้วทำไมเวลาเราเลือกงานเราถึงยอมเลือกสิ่งที่ไม่เหมาะกับเราล่ะค่ะ
จะ “รักในสิ่งที่ทำ”หรือ “ทำในสิ่งที่รัก” ก็สุดแล้วแต่ใครจะเลือก แต่อย่าลืมว่าเมื่อเราเลือกทำในสิ่งที่รัก เราก็จะได้รักในสิ่งที่ทำ ในทุกๆวันของชีวิตนะคะ 🙂