ขออนุญาตน้องไอซ์ เอาคำถามมาตอบในนี้นะคะ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นด้วยค่ะ
Q:“สวัสดีครับ ครูม่อน(พี่ม่อน)
ที่ต้องวงเล็บไว้เพราะว่ารู้จักครูม่อนครั้งแรกเมื่อตอนอยู่ ม.6 เกือบสองปีที่แล้ว ผมไปอ่านบทความในเวบไซต์เด็กดีอ่ะครับ ตอนนั้นยังรู้จักในชื่อพี่ม่อนอยู่เลย
ก่อนอื่นต้องขอบคุณทุกบทความที่เป็นประโยชน์มากๆครับ ตอน ม.6 ผมอ่านเรื่องที่ครูม่อนเขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะเรียนคณะแพทยศาสตร์ที่บังเอิญสอบติด หรือคณะวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองวาดฝันมานานแสนนาน
ต้องยอมรับว่าแม้ตัวเองมีความชัดเจนและมุ่งมั่นมากที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่การสอบติดแพทย์ครั้งนั้น แรงกดดันจากสังคม เพื่อน ญาติ ครูบาอาจารย์ มีผลมากเลย ทำให้ต้องคิดหนัก และมีบทความเรื่องนั้นเป็นตัวช่วยเติอนสติ ทำให้ตัดสินใจได้ และเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่เลือกเรียนที่นี่ก็เพราะว่า เรายังไม่ต้องเลือกภาควิชา
นี่แหละครับคือประเด็น
แม้ผมจะมีความมุ่งมั่นมากว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ผมกลับตอบคำถามไม่ได้ว่าควรเลือกไปสายไหนดี
วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยเราขีดเส้นคั่นฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ออกจากกัน
ในขณะที่ผมอยากศึกษาชีววิทยาในระดับโมเลกุลโดยที่มีเทคนิคหรือกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมีมาเป็นตัวตอบโจทย์
หนึ่งปีที่ศาลายา ทุกคนเรียนรวมกันโดยที่ไม่มีการแบ่งสาขา ผมก็รู้สึกสนุกสนานกับทุกอย่างที่ได้เรียน
จนกระทั่งต้องเลือกภาควิชาในที่สุด
ผมตัดสินใจเลือกภาควิชาฟิสิกส์ ด้วยเหตุที่ว่าภาพของตัวเองเป็นอย่างนี้มาตลอด (เป็นนักเรียนโอลิมปิกสาขาฟิสิกส์ ตอนปีหนึ่งก็เป็นฝ่ายวิชาการฟิสิกส์)
แต่พอเข้ามาในภาควิชา
มันสรุปได้ชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังตามหา
ผมยังมั่นใจว่าไม่มีอะไรเหมาะกับผมไปมากกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์ แต่ที่ที่อยู่ตอนนี้กลับไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกได้เหมือนเมื่อครั้งที่เรียนหลายๆวิชาอย่างเมื่อก่อน มันอึดอัดมาก
ตอนนี้กำลังเล็งที่จะเปลี่ยนสาขา ผมไม่คิดว่ามันจะสายเกินไป ผมอาจจะต้องเสียเวลาอีกหนึ่งปีแต่มันก็คุ้ม ให้เวลาหนึ่งปีนี้เป็นบทเรียนกับตัวเอง
แล้วจะเปลี่ยนไปทางไหน
ผมเล็งๆ เคมีและเทคโนโลยีชีวภาพไว้ครับ
(คือ ถ้ามองปลายทางเลยผมอยากศึกษาเกี่ยวกับชีวเคมีและชีวฟิสิกส์ ซึ่งสองสาขานี้ไปถึงได้ทั้งคู่)
แต่ก็ยังไม่อยากสร้างทางเดินของตัวเองให้แคบขนาดนั้น เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่รู้ตัวว่ากำลังเดินผิดทาง ถ้าเจอทางแยกจะได้เลี้ยวไปได้ (เพราะที่ผมเข้าภาควิชาฟิสิกส์ ผมตั้งใจจะทำแล็บชีวฟิสิกส์ ผมคิดไว้แล้วว่าจะไม่เข้าแล็บอย่างอื่นในภาคฟิสิกส์แน่เพราะไม่ชอบ ซึ่งพบว่าชีวฟิสิกส์ในเชิงนักฟิสิกส์นั้นไม่ใช่สิ่งต้องการ อีกทั้งวิชาที่เรียนก็เป็นฟิสิกส์สุดขีด ไม่มีความเชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่อยากศึกษาได้เลย)
การเลือกภาคฟิสิกส์โดยมุ่งเป้าไปที่ชีวฟิสิกส์ เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ ทำให้ผมไม่สามารถเลี้ยวไปทางอื่นได้นอกจากถอยหลังกลับไป
ทีนี้ เคมี หรือ เทคโนโลยีชีวภาพ
ทั้งสองสาขาเป็นสาขาที่กว้างขวาง มีทางเลือกหลากหลายที่ผมอยู่แล้วอุ่นใจแน่นอน
แล้วจะเลือกอะไรล่ะ
ถ้าผมเลือกเคมี (ผมไม่เคยจินตนาการว่าตัวเองเป็นนักเคมีมาก่อนเลย) ก็จะมีวิชาทางฟิสิกส์ที่ตัวเองถนัดอยู่ มีเคมีอินทรีย์ที่ชอบมากตอน ม.ปลาย มีสาขาที่น่าตื่นเต้นอย่างวัสดุศาสตร์ นาโน เคมีแขนงใหม่ๆ และสามารถไปถึงชีวเคมีและชีวฟิสิกส์ที่ตั้งเป้าไว้แต่แรกได้
ถ้าเลือกเทคโนโลยีชีวภาพ
ดูจะตอบสนองความต้องการทางด้านอุตสาหกรรมและการวิจัยในไทยสูงมาก มีชีวสารสนเทศศาสตร์ พันธุศาสตร์ ชีวเคมี และวิศวกรรมผสมผสานกันอยู่ในตัว ทางเลือกหลากหลายมากหลังเรียนจบปริญญาตรี
แต่ผมไม่เคยเรียนวิชาพวกนี้ลึกๆมาก่อนเลย แล้วผมจะรู้ได้ยังไงว่าผมชอบจริงๆ
กลัวเลือกไปสักทางแล้วประสบปัญหาอย่างที่เผชิญอยู่ ผมควรทำยังไงดีครับ
(ขอโทษที่คำถามอาจจะเฉพาะทางไปนิดนึงนะครับ)
ขอบคุณมากครับผม”
A: พี่ม่อน(ขอใช้พี่แล้วกันนะคะ เพราะไหนๆก็ติดตามกันมาตั้งแต่สมัยเด็กดีแล้ว) เข้าใจน้องไอซ์มากๆเลยนะจ้ะ เพราะพี่เองก็เจอมาเหมือนกันเลย ตอนที่เลือกหมอก็เลือกเพราะชอบชีวะ ตอนเรียนแรกๆก็ชอบมาก เพราะเรียนชีวะที่เราชอบ แต่พอเริ่มเข้าไปถึงเนื้อหาเรื่องการรักษาคน เราเริ่มไม่สนใจ ไม่สนุก ไม่ชอบ ตอนแรกพี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม เพราะเราก็ชอบชีวะ ทำไมเราถึงไม่ชอบเรื่องการรักษาคนล่ะ พอผ่านมา ถึงได้เข้าใจว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะตัวเนื้อหาวิชาไม่ได้ทำให้เราสนใจจริงจัง คือ เราไม่ได้อยากรู้เรื่องนั้นๆนั่นเอง แต่ในบางครั้ง ถึงแม้เราจะเรียนในสิ่งที่เราไม่ได้สนใจนัก แต่เราก็จะอยากเรียน ถ้าการเรียนนั้นนำไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ เช่น ถ้าคนไหนที่อยากเป็นหมอ ถึงแม้ว่าจะไม่ชอบบางวิชา แต่ก็จะอยากเรียนและมีแรงเรียน เพราะมันจะนำเขาไปสู่การเป็นหมอซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอยากเป็นได้ สิ่งเราก็ต้องแยกแยะด้วยเหมือนกันว่าที่เราไม่ชอบสิ่งที่เรียนอยู่เนี่ย มันเป็นเฉพาะบางสาขา บางวิชาหรือบางส่วนของการเรียนหรือเปล่า เพราะถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราก็ควรจะมองถึงเป้าหมายว่า การเรียนเรื่องเหล่านี้จะเป็นทางผ่านไปสู่สิ่งที่เราอยากทำได้ แต่ถ้าแยกแยะดูแล้วคิดว่า เราไม่ชอบเรื่องนี้จริงๆ และการเรียนเรื่องพวกนี้ก็ไม่ทำให้เราไปสู่สิ่งที่เราอยากทำได้ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนค่ะ
ส่วนเรื่องการเลือกภาควิชาของน้องไอซ์ พี่อาจจะตอบได้ไม่เจาะจงนัก เพราะพี่ไม่รู้รายละเอียดลึกๆเท่าไหร่นะคะ พี่แนะนำว่าก่อนจะเปลี่ยนภาควิชา ลองปรึกษาอาจารย์ในภาควิชาดีไหมคะ เพราะว่าอาจารย์จะมีความรู้ในเชิงกว้างมากกว่าเรา ท่านจะมองเห็นได้ว่า ถ้าเรียนภาคนี้จะนำไปสู่สิ่งที่เราอยากทำได้หรือไม่ ลองหาอาจารย์ที่ใจดีๆและเข้าใจนักเรียน แล้วปรึกษาดู ท่านจะได้ช่วยมองได้ว่าควรจะไปต่อด้านไหนนะคะ เพราะบางครั้ง เราอาจจะมองไม่ออกว่าเรียนภาคฟิสิกส์แล้วมันจะไปต่อสิ่งที่เราอยากเรียนได้อย่างไร แต่จริงๆแล้วในต่างประเทศอาจจะมีคนทำแบบนี้ หรือ มันอาจจะเป็นพื้นฐานของการไปเรียนต่อสาขาที่เราอยากเรียนได้ก็ได้ค่ะ
ถ้าหาข้อมูลแล้ว คิดว่าน่าจะได้ไอเดียมากขึ้นนะคะว่าจะไปต่อทางไหนดี ส่วนคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะรู้แน่ๆว่า เราชอบอะไร จริงๆก็คงต้องลองดูอย่างเดียวล่ะค่ะ แต่พี่ไม่อยากให้คิดว่าถ้าเลือกแล้วคือเลือกเลย เพราะการทำสิ่งที่เป็นตัวเรานั้นมันเป็นการเดินทาง มากกว่าจุดมุ่งหมายค่ะ หมายถึงว่า การที่เราจะเลือกทำสิ่งที่เราชอบนั้น เราเองก็จะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆอยู่แล้ว ขนาดอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ดหลายๆคนก็ยังเปลี่ยนเลยค่ะ บางคนจบเรื่องคอมพิวเตอร์มาจากMIT แต่สนใจเรื่องการศึกษา ก็มาทำวิจัยและสอนเรื่องการศึกษา บางคนก็จบฟิสิกส์มาแต่สนใจเรื่องการสอนหนังสือ ก็เบนมาเรื่องการสอนวิทยาศาสตร์แล้วมาสอนในมหาวิทยาลัยค่ะ ที่เป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่าตอนแรกอาจารย์ท่านไม่ได้ค้นพบตัวเองนะคะ ท่านก็เลือกสิ่งที่ท่านสนใจและเป็นตัวท่านเองในตอนนั้น พอโตขึ้นท่านก็ได้ใช้สิ่งที่เรียนมาเป็นพื้นฐานในการทำสิ่งที่ท่านทำอยู่ในตอนนี้ นานๆไปท่านก็อาจจะเปลี่ยนอีกก็ได้ค่ะ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเลือกสิ่งที่ถูกต้องแล้วทำสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต แต่อยู่ที่ว่า เราฟังเสียงหัวใจเราตอนนี้ เลือกสิ่งที่เราสนใจและคิดว่าเป็นตัวเราที่สุด และถ้าในอนาคต ความเป็นตัวเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าเราเลือกสิ่งที่เป็นตัวเราตลอดเวลานั้น ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะมีหนทางในการเดินตามเส้นทางนั้นและประสบความสำเร็จได้เสมอค่ะ
อย่างพี่ม่อนเอง พี่ม่อนก็ไม่รู้สึกเสียใจนะคะที่เลือกหมอไป เพราะตอนนั้นเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับตัวเราที่สุดแล้ว และในตอนนี้สิ่งที่เรียนที่คณะแพทย์ก็เป็นพื้นฐานให้พี่ได้ไปเรียนต่อด้านการศึกษาและสมองที่พี่สนใจค่ะ
ลองคิดดูนะคะ ว่าถ้าคนเราต้องเลือกไปเลยแค่ครั้งเดียว ก็แปลว่าเราคิดว่าคนคนหนึ่งไม่เติบโตและไม่เปลี่ยนแปลงแล้วหลังจากเรียนจบมัธยมปลาย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ พี่คิดว่าที่สังคมมักจะคิดว่าเราต้องเลือกทางเดินที่แน่นอนไปเลยหลังจากเรียนจบมอปลายก็เป็นเพราะว่าเมื่อก่อน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อก่อนคนจะอายุสั้นกว่า ต้องรีบมีครอบครัว ต้องรีบสร้างตัว แต่ในปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้วค่ะ อายุคนยืนขึ้น วิชาการต่างๆก็มีการข้ามแขนงกันมากขึ้น ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ความสามารถหลายๆด้าน ซึ่งก็หมายความว่าต้องเรียนสูงขึ้นด้วย ในสังคมปัจจุบันนี้ จึงเห็นได้ว่า อาชีพจะหลากหลายกว่าเมื่อก่อนมาก มีหลายอาชีพที่เราไม่คิดว่ามี ก็สามารถทำเงินได้เยอะแยะ พี่คิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะเริ่มปรับตัวและมองสังคมด้วยกรอบความคิดใหม่ แทนที่จะมองด้วยกรอบความคิดแบบจำกัดแบบเดิมค่ะ
สรุปก็คือ พี่ม่อนคิดว่า พิจารณาให้ดีแล้วเลือกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราที่สุด สิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจทำไปตลอด หรืออาจจะเป็นสิ่งที่นำเราไปสู่สิ่งอื่นในอนาคตที่เหมาะสมกับตัวเราในอนาคตก็เป็นได้ค่ะ
ต้องขอบคุณน้องไอซ์มากนะคะสำหรับคำถาม เป็นคำถามที่ดีมากๆ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อใครหลายๆคนนะคะ พี่ม่อนดีใจที่บทความของพี่ได้ช่วยให้น้องไอซ์ได้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์อย่างที่ต้องการจริงๆนะคะ