fbpx

พูดไทยคำอังกฤษคำ เป็นการทำลายภาษาไทยจริงหรือ

Share This Post

Share on email
Share on facebook
Share on twitter

ในใจก็รักภาษาไทยนะค่ะ แต่นับวันๆจะพูดไทยคำอังกฤษคำมากขึ้นทุกๆวัน ทั้งๆที่เมื่อก่อนตัวเองเป็นคนเกลียดการพูดไทยคำอังกฤษคำที่สุด ตอนปัจฉิมนิเทศเวลากลับจากAFS จำได้แม่นเลยว่า พี่ๆย้ำให้พูดภาษาไทย อย่าพูดไทยคำอังกฤษคำ ซึ่งเราก็เห็นด้วยเป็นที่สุด เพราะตอนเรียนหนังสือก็ชอบเรียนภาษาไทยกับเขาเหมือนกัน

แต่ยิ่งใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลาที่มาเรียนต่อ แล้วเราแทบไม่ได้ใช้ภาษาไทยเลย เวลาที่พูดบางทีมันก็หลุดภาษาอังกฤษออกมาโดยไม่รู้ตัว ถึงบางทีรู้ตัวก็รู้สึกว่าถ้าแปลแล้วจะฟังไม่เข้าใจ เพราะภาษาอังกฤษแต่ละคำ โดยเฉพาะคำที่เป็นนามธรรม อย่าหาว่ากระแดะเลยนะค่ะ ครูม่อนเชื่อว่าหลายๆคนก็รู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน เช่น คำว่า comfort zone จะให้แปลว่ายังไงล่ะ พอแปลได้ว่าโซนสุขสบาย คำว่าโซนก็ทับศัพท์อีกล่ะ ถ้าบอกว่าพื้นที่สบาย แล้วคนอ่านเข้าใจไหมว่ามันหมายความว่าอะไร จริงๆแล้วคือพื้นที่ที่เราทำอะไรจนชินแล้ว ไม่ต้องกลัวแล้ว คือเป็นอะไรที่เรากล้าทำ ตรงข้ามกับพื้นที่นอกcomfort zoneที่หมายถึงอะไรที่เรายังไม่เคยทำ หรือไม่กล้าทำ ถ้าแปลแล้วมันก็แปลกๆ ถ้าไม่แปล บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ จะให้ทำยังไงดี

แล้วการพูดไทยคำอังกฤษคำเนี่ยเป็นการทำลายภาษาไทยหรือเปล่า
ถ้าหากว่าคำที่ไม่จำเป็นก็พูด เช่น I กำลังจะนั่ง bus ไป meeting กับ teacher แบบนี้ก็สมควรโดนว่าล่ะจริงไหมคะ เพราะธรรมชาติของคนเราไม่ได้พูดออกมาแบบนี้ อย่างนี้ต้องตั้งใจพูดไทยคำอังกฤษคำมันถึงจะออกมาอย่างนี้ได้ และครูม่อนก็เห็นด้วยว่าแบบนี้เป็นการทำลายภาษาไทยด้วย แต่ถ้าเกิดเราพูดว่า ตอนบ่ายต้องไปประชุมที่ conference room 2 อย่างนี้มันน่าจะให้อภัยกันได้นะ เพราะที่ conference room 2 มันติดปากออกมาก็เพราะว่ามันเขียนอยู่หน้าห้องอย่างเนี่ย มันก็เป็นธรรมชาติของคนอยู่แล้วที่มันจะติดปากมา

อีกอย่างที่รู้สึกว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆพูดไทยคำอังกฤษคำมากขึ้นก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าภาษาไทยจริงๆเป็นอย่าง บอกตรงๆเลยว่าขนาดตั้งใจเรียนภาษาไทยนะ ยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่ารูปแบบที่เป็นประโยคไทยจริงๆมันเป็นอย่างไร รู้สึกว่าการศึกษาบ้านเรายังขาดการสอนการเขียนการพูดให้นักเรียน ยิ่งคนที่เรียนสายวิทย์เนี่ย ไม่ได้เรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย ทำให้เขียนภาษาไทยดีๆไม่เป็นเลย อย่างน้อยๆก็น่าจะสอนในมัธยมให้มากกกว่านี้หน่อยนะค่ะ รู้สึกว่าเราเรียนวรรณคดีกันเยอะ ซึ่งมันก็สนุกดี แต่ว่าสิ่งที่จะได้ใช้จริงๆ เช่น การเขียน กลับไม่ค่อยได้เรียน ถ้าเราไม่ได้สอนทักษะทางภาษาที่จำเป็นให้นักเรียน มันก็ไม่แปลกหรอกที่เวลานักเรียนจะใช้ภาษาจริงๆ กลับต้องไปใช้สิ่งที่ได้มาจากการเรียนภาษาต่างประเทศน่ะ

ยิ่งไปกว่านั้น โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าภาษาไม่ใช่สิ่งตายตัว ถ้าภาษาไม่เปลี่ยนแปลงก็คือภาษาที่ตายแล้ว ไม่มีคนใช้แล้ว บางทีเราอาจจะอนุรักษ์นิยมกันเกินไปโดยลืมคิดว่าภาษาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคบ้างเป็นธรรมดา สมัยเราก็ไม่ได้ใช้ภาษาเหมือนตอนพ่อขุนราม หรือตอนต้นรัตนโกสินทร์ใช่ไหมคะ แล้วจะให้เราต้องใช้ทุกอย่างตามตำราเนี่ย มันจะเป็นไปได้เหรอ สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่การเลือกให้สมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการเปลี่ยนแปลง จริงไหมค่ะ?

More To Explore