fbpx

ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้มีกำลังใจเรียนภาษาอังกฤษ

Share This Post

Share on email
Share on facebook
Share on twitter

ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้มีกำลังใจเรียนภาษาอังกฤษ (Performance and Process Goals)

เป้าหมายของเอก จะสอบศัพท์ครั้งต่อไปให้ได้เต็ม

เป้าหมายของเอม จะท่องศัพท์ 10 คำทุกวัน

คิดว่าเป้าหมายแบบไหนที่มีผลดีต่อแรงจูงใจระยะยาวคะ (long-term motivation)

ลองมาดูกันว่าเป้าหมายของเอกกับเอมมีผลต่อmotivation ยังไงบ้าง ถ้าตั้งเป้าหมายแบบเอก อาจจะทำให้ได้คะแนนดีได้ก็จริง แต่ถ้าสอบเสร็จแล้วก็ไม่แน่ว่าจะยังอยากเรียนศัพท์ภาษาอังกฤษต่อ หรือว่าวิธีการท่องศัพท์อาจจะท่องเอาแค่ให้สอบได้ดี แต่ไม่ได้ท่องแบบที่เอาไปใช้ได้จริง ส่วนเป้าหมายของเอมนั้นมีผลต่อแรงจูงใจในระยะยาวมากกว่า เพราะว่าอะไรเรามาดูกันค่ะ

ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกับเป้าหมายสองแบบ

Performance goal คือ เป้าหมายที่โฟกัสที่ผลลัพธ์เป็นหลัก เช่น

  • สอบให้ได้ที่ 1
  • ได้คะแนน TOEFL มากกว่า 100 คะแนน (จาก 120)

Process goal คือเป้าหมานยที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เช่น

  • ท่องศัพท์ให้ได้วันละ 10 คำ
  • เขียนไดอารีภาษาอังกฤษให้ได้วันละ 5 นาที

เราเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่าง performance goal กับ process goalแล้วใช่ไหมคะ

โดยปกติแล้ว เราจะตั้งเป้าหมายแบบ performance กันเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทุกๆคนสอนให้เราทำและเป็นสิ่งที่คนอื่นก็ทำกัน เพราะว่าสิ่งที่เราอยากได้จริงๆ คือ ผลลัพธ์ ไม่ใช่กระบวนการ ซึ่งจริงๆแล้วการตั้งperformance goal ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่อาจจะมีผลเสียต่อ long-term motivation ของการเรียนรู้ และเราก็ได้คุยกันไปแล้วว่าภาษานั้นต้องเรียนกันระยะยาว ฉะนั้นถ้าจะให้เรารักษา motivation ที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ถึงฝั่ง เราก็ควรจะมารู้จักการตั้ง process goal กัน

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของครูม่อน (อีกแล้ว) ตอนมอปลายครูม่อนยังไม่เก่งภาษาอังกฤษเลย ที่จริงยังเกลียดภาษาอังกฤษด้วยซ้ำ แต่ว่าครูม่อนก็เหมือนกับเด็กมอปลายๆทุกๆคน คือ อยากสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ ก็เลยอยากฟิตเรียนภาษาอังกฤษ ทีนี้ตอนนั้นตั้งเป้าหมายว่า เวลานั่งรถเมล์หรือเวลาต่อคิวจะเอาสมุดจดศัพท์มาอ่าน (สมุดจดศัพท์นั้นจะมีตัวอย่างประโยคด้วย) ซึ่งเป้าหมายนี้คือ process goal คือทำไม่ได้หวังตรงๆว่าคะแนนจะดีขึ้น คือ เราก็คิดนะว่าถ้าเราได้คำศัพท์มากขึ้น เราก็น่าจะสอบได้คะแนนดีขึ้น แต่ทุกๆวันไม่ได้ไปโฟกัสตรงนั้น ทำให้มีแรงท่องศัพท์มากขึ้น จนกระทั่งมาถึงตอนนี้ครูม่อนก็ยังชอบทบทวนคำศัพท์อยู่

ในทางกลับกัน ตอนที่ครูม่อนทำวิจัยอยู่ที่เมืองจีน ตอนนั้นอยากสอบ HSK 4 ให้ผ่านก่อนที่จะกลับเมืองไทย ก็ตั้งเป้าหมายไว้ ก็อ่านหนังสือ เรียนพิเศษ แต่เพราะว่าเป้าหมายของเราคือสอบให้ผ่าน การเตรียมตัวส่วนมากก็คือ ทำข้อสอบเก่า พอผลสอบออกมาก็ผ่านนะ ได้คะแนนดีด้วย แต่ว่าไม่ได้รู้สึกว่าภาษาจีนตัวเองดีขึ้นเลย ยิ่งผ่านไปแป๊บเดียวก็ลืมหมดแล้ว (อันนี้หลายๆคนคงรู้สึกเหมือนกัน บางทีเรียนไปแล้วสอบได้ดีนะ แต่พอสอบเสร็จลืมหมดเลย) ไม่มี long-term motivation ในการฝึกภาษาจีนเพิ่มเลย

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า  performance goal ไม่มีประโยชน์นะคะ เราสามารถใช้ performance goal มาเป็นตัวช่วยในการตั้ง process goal ได้ เช่น

Performance goal ปีหน้าจะสอบTOEFL ให้ได้คะแนนมากกว่า 100

Process goals

– Speaking: ฝึกพูดตอบคำถามจากข้อสอบเก่า วันละ 1 ข้อ

– Listening: ฟัง lecture หรือ podcast วันละอย่างน้อย 10 นาที

– Reading: อ่านอะไรก็ได้ที่เป็นภาษาอังกฤษ วันละ 1 หน้า ​A4

– Writing: เขียนไดอารีภาษาอังกฤษวันละ 5 นาที

จะเห็นได้ว่า เราตั้ง process goals เป็นสี่ด้านเพราะว่านั่นเป็นสิ่งที่ TOEFL จะวัด ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่า performance goal มาช่วยให้เราตั้ง process goal ได้ดีขึ้น

อย่าลืมว่าพอเราทำตามprocess goal ได้แล้ว ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายด้วย ต้องคอยดูว่าprocess goal ที่ตั้งไว้ จะยังทำให้เราไปถึง performance goal ไหม ถ้าไม่ เราจะแก้ไขปรับเปลี่ยนอย่างไร

สรุปคือ การตั้งเป้าหมายโดยเน้นแต่ผลลัพธ์มักจะส่งผลต่อแรงจูงใจระยะยาวในทางลบ ถ้าเราอยากส่งเสริมแรงจูงใจในการเรียนรู้ระยะยาว ควรหัดตั้งเป้าหมายโดยเน้นที่กระบวนการค่ะ

ลองกลับไปreflectดูนะคะว่าการตั้งเป้าหมายของเราเป็นแบบไหน ถ้าเป็นperformance goalก็ลองดูสิว่า เราจะเอาperformance goalนั้นมาช่วยให้เราตั้งprocess goalได้อย่าไรบ้าง เราจะได้เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษของเราค่ะ

More To Explore