ตอนแรกๆที่ไปเรียนที่ฮาร์วาร์ดใหม่ๆ รู้สึกกลัวเหมือนกันว่าจะเจอแต่คนเก่งๆ แล้วเราจะสู้เขาได้ไหมเนี่ย เพราะภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของเราซะด้วย แต่เรียนไปเรียนมา จนจบแล้วถึงได้รู้สึกว่า ถึงแม้ที่ฮาร์วาร์ดจะมีแต่คนเก่งๆ แต่บรรยากาศในการเรียนเขาไม่ส่งเสริมการแข่งขันกันเอง แต่จะส่งเสริมการช่วยเหลือกันมากกว่า (แต่ต้องขอออกตัวก่อนว่า ที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นที่Harvard Graduate School of Educationนะคะ ถ้าเป็นคณะอื่นก็อาจจะแตกต่างกันไปได้)
ที่นู่น ก่อนจะไปเรียนแต่ละอาทิตย์ จะมีassigned readingมาให้อ่านก่อน ซึ่งจะเป็นวารสารทางวิชาการบ้าง เป็นบทที่ตัดมาจากหนังสือวิชาการบ้าง ฉะนั้นภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาชาวบ้าน ขนาดม่อนคิดว่าภาษาตัวเองค่อนข้างดี ก็ยังรู้สึกว่าอ่านยากเลยค่ะ เราจะอ่านได้ช้ากว่าหนังสือภาษาอังกฤษธรรมดา ถ้าจะให้ดีก็ลองนึกถึงเวลาเราอ่านหนังสือนิยายภาษาไทย กับอ่านแบบเรียนซิคะ เราก็จะอ่านหนังสือที่เป็นวิชาการได้ช้ากว่า เพราะเนื้อหาเยอะกว่า ซับซ้อนกว่า ภาษาก็ยากกว่า แต่ละอาทิตย์ก็มีให้อ่านกันเป็นร้อยๆหน้า ช่วงแรกๆ อย่าว่าแต่จะเรียนให้ทันเลยค่ะ แค่อ่านให้หมดก็แย่แล้ว
ตอนแรกๆเลยรู้สึกว่าเรียนไม่ค่อยทัน เหมือนเราคิดไม่ค่อยทัน ตอบไม่ค่อยทันเขาเท่าไหร่ เพราะกว่าเราจะเข้าใจ กว่าจะformคำถาม คำตอบในสมองได้ เขาก็ไปเรื่องอื่นแล้วล่ะ ตอนแรกๆก็รู้สึกแย่เหมือนกันนะ ที่เราตอบอะไรไม่ค่อยทัน ถามก็ไม่ทัน บางทีเหมือนจะไม่เข้าใจ แต่ไม่รู้ว่าจะถามอะไร
แต่พอเรียนๆไป ถึงได้รู้ว่าปรากฏการณ์แบบนี้มันเป็นเรื่องปกติค่ะ ขนาดคนอเมริกัน ถ้าเป็นเรื่องที่เขาไม่ถนัด เขาก็ต้องใช้เวลาในการตกผลึกความรู้เหมือนกัน หลังๆจับทางได้ว่า ถ้าไม่เข้าใจ หรืออยากแสดงความคิดเห็นอะไร ก็ให้ยกมือไปก่อนเลย พูดได้ไม่ได้ฉันไม่สนล่ะ ฉันอยากจะพูด พอค่อยๆพูดออกไป มันจะค่อยๆคิดออกเองค่ะ ถึงคิดไม่ออก คนฟังบางทีก็ช่วยคิดให้ว่าที่เราพูดมันหมายถึงอะไร
เหตุการณ์ที่ทำให้ม่อนรู้สึกว่า ที่HGSEเรียนแบบช่วยเหลือกันมากกว่า คือ ที่วิชาหลักด้านMind, Brain and Education เราได้ตั้งกลุ่มนัดคุยกันนอกห้องเรียน เพื่อถกเรื่องความรู้ที่เราเรียนต่อยอดจากห้องเรียน พอเป็นกลุ่มย่อยเราก็เลยมีโอกาสได้เล่าให้ฟังว่า เรารู้สึกว่าเราพูดไม่ค่อยทันคนอื่นๆ ซึ่งเพื่อนๆก็แปลกใจอยู่เหมือนกันที่ได้ยินเราพูดอย่างนั้น เพราะม่อนก็แสดงความคิดเห็นในห้องบ่อยพอสมควร เพื่อนๆบอกว่า สิ่งที่เราพูด หลายๆครั้งทำให้เขาได้แนวคิดอะไรใหม่ๆเยอะ เพราะเรามองจากมุมของคนที่โตในประเทศอื่น ในสาขาวิชาอื่น เราเองก็อยากได้ยินคนอื่นพูดมุมมองของเขาเยอะๆเหมือนกัน เพราะยิ่งมีความคิดหลากหลายมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้แต่ละคนเข้าใจมุมมองของตัวเองแตกฉานยิ่งขึ้น ไม่มีเลยค่ะที่จะต้องแย่งกันตอบว่าใครถูกไม่ถูก หรือแย่งกันว่าความคิดของใครดีกว่าใคร มีแต่เป็นมุมมองทีี่ต่างกัน แล้วเอาไปประยุกต์ให้กับมุมมองของตัวเอง
อีกอย่างก็คือ ในหลายๆวิชา อาจารย์เขาสนับสนุนให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่างานจะส่งเป็นงานเดี่ยว ทำงานเป็นกลุ่มในที่นี้ไม่ใช่ลอกกันมาส่งนะคะ แต่ช่วยกันคิดช่วยกันทำมากกว่า ที่ม่อนทำก็คือ ในวิชาสถิติ ตอนแรกก็ทำเองนี่แหละ แต่ตอนหลังๆอาจารย์แนะนำให้ปรึกษาเพื่อนได้(แต่ก็ให้เขียนcreditไว้ให้เพื่อนด้วยนะ ว่าไอเดียนี้เอามาจากเื่พื่อนคนนี้) ม่อนกับเพื่อนที่อยู่หอเดียวกัน ก็เลยใช้วิธีนั่งทำงานด้วยกัน มีอะไรก็ถามกันได้เลย พอต่างกันต่างทำงานเสร็จแล้ว ก็เอามาผลัดกันแก้ ซึ่งปรากฏว่าทำให้ได้คะแนนดีขึ้นกัน ได้เอกันทั้งคู่ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องต่างคนต่างทำ ห้ามให้ใครดูเพราะกลัวเพื่อนได้คะแนนดีกว่า ม่อนว่าบรรยากาศของคณะมีผลมาก เพราะอาจารย์ส่งเสริมให้ช่วยกันเรียน นักศึกษาก็เลยช่วยกันเรียน เป็นบรรยากาศของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่า การแข่งขันกันค่ะ
บรรยากาศอีกอย่างที่เอื้อให้นักศึกษาช่วยเหลือกันก็คือ อาจารย์มักจะให้งานที่ให้อิสระนักศึกษาเลือกหัวข้อได้เอง คือ อาจารย์ก็อยากให้นักเรียนทำงานในเรื่องที่นักศึกษาสนใจจริงๆ เพื่อจะได้ทำออกมาได้ดี พอเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่เหมือนว่าใครแข่งกันใครสักเท่าไหร่ เหมือนแต่ละคนจะแข่งกับตัวเองมากกว่า เพราะจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็คงไม่ได้ เพราะทำงานคนละเรื่องกัน ถึงแม้ในบางวิชา เช่น สถิติ จะทำโจทย์ข้อเดียวกัน อาจารย์ก็ยังให้อิสระในการตอบว่า จะตอบแบบไหน ใช้วิธีไหนก็ได้ ขอเพียงเรามีหลักฐานสนับสนุนให้เพียงพอก็เป็นใช้ได้ แบบนี่ยิ่งทำให้เห็นว่าบรรยากาศการเรียน เน้นความเป็นอิสระ เป็นการลดการแข่งขัน และส่งเสริมการช่วยเหลือกันค่ะ
Create Date : 15 ธันวาคม 2552