fbpx

Mindset towards certain words

Share This Post

Share on email
Share on facebook
Share on twitter

มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่ม่อนได้สัมผัสกับตัวเองอย่างชัดเจน หลังจากท่องศัพท์ GRE คือ ปรากฏการณ์ที่ Norman Lewis ผู้แต่งหนังสือ Word Power Made Easy ได้กล่าวว่าเป็น “mindset towards certain words” มันเป็นอย่างไร ม่อนจะเล่าให้ฟังค่ะ

ม่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบท่องศัพท์เอาเสียเลยจริงๆ นอกจากจะมีใครบังคับ เช่น ต้องสอบ ก็จะท่อง ดังนั้นตั้งแต่เลิกเรียนภาษาอังกฤษที่จุฬาตอนปีสอง (ตอนนั้นหมอจุฬาเรียนวิชาภาษาอังกฤษแค่ตอนปีหนึ่งค่ะ) ก็ไม่ค่อยได้ท่องศัพท์ใหม่ๆอีกเลย  แต่ด้วยอาศัยว่าทุนเดิมมีอยู่ค่อนข้างเยอะ เวลาอ่านหนังสือแล้วเจอศัพท์ใหม่ๆก็ใช้วิธีเดาเอาจากบริบทรอบข้าง ทำให้ไม่ต้องเปิดdictionaryเลยก็อ่านเข้าใจได้ ฉะนั้นเวลาใครถามความหมายศัพท์จะตอบไม่ค่อยได้ เพราะว่าเรารู้ความหมายคร่าวๆ ไม่รู้ว่าจริงๆหมายความว่าอะไร

ชีวิตเลยผ่านมาสี่ห้าปีโดยไม่ได้เพิ่มพูนศัพท์ชั้นสูงให้กับตัวเองเท่าไหร่ ทีนี้พอต้องมาสอบGRE ซึ่งถ้าใครเคยสอบหรือจะสอบก็จะรู้ว่าศัพท์ยากมหาหินขนาดไหน ขนาดฝรั่งยังต้องท่องกันจะเป็นจะตายกว่าจะสอบได้ แล้วเราไม่ใช่ฝรั่งก็ต้องท่องมากกว่าเขาหลายเท่า แล้วข้อสอบมันก็ไม่เหมือนข้อสอบTOEFLที่พอให้เราเดาจากบริบทรอบข้างได้ซะด้วย GREเล่นถามศัพท์ตรงๆ ถ้าไม่รู้ความหมายก็ตอบไม่ได้ เลยไม่มีทางเลือกต้องท่องสถานเดียว

ตอนแรกๆท่องศัพท์ก็เซ็งๆนะ เพราะรู้สึกว่าเป็นศัพท์อะไรก็ไม่รู้ เกิดมาไม่เคยเห็น เราก็อ่านหนังสือภาษาอังกฤษเยอะพอสมควร ยังไม่เคยเห็นเลย ท่าจะเป็นศัพท์ที่คนทั่วไปเขาไม่ใช้กัน แล้วเราจะท่องไปทำไมเนี่ย?

แต่หลังสอบเสร็จ กลับมาอ่านหนังสือภาษาอังกฤษทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นนิยาย หนังสือพิมพ์ หรือบทความ  น่าแปลกที่ม่อนกลับเจอศัพท์ยากๆที่เราท่องในGRE?!?  แปลกจริงๆ ทั้งๆที่เราก็อ่านหนังสือพวกเดิมที่เคยอ่านตอนก่อนท่องศัพท์ ทำไมเราไม่เคยเห็นศัพท์พวกนี้มาก่อน  บางทีกลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมที่เคยอ่านมาหลายรอบแล้ว ยังมาสังเกตเจอศัพท์GRE มันแปลกจริงๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ศัพท์ยากๆพวกนี้ก็มีอยู่รอบตัวเรามานานแล้ว แต่เนื่องจากมันไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา คือมันไม่ได้สื่อความหมายอะไรให้เรา เราเลยไม่สนใจมัน เรียกได้ว่า เหมือนกันตาบอดมองไม่เห็นมันซะยังงั้น  แต่พอเราท่องศัพท์ เรารู้ความหมาย  เราก็เริ่มมีmindsetของเราต่อศัพท์นั้น ทำให้เราสังเกตเห็นมันในที่ที่เราไม่เคยเห็นมันมาก่อน   ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะว่าสมองของเรามีวิธีในการกรองข้อมูลที่จำเป็นเข้ามาในการรับรู้ เนื่องจากสิ่งกระตุ้นในสิ่งแวดล้อมมีมากมายถ้าเราเอา undivided attention ไปให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ก็คงจะบ้าตายกันไปก่อนแน่  สมองเลยเลือดเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเรา  ก็เลยอธิบายได้ว่า เมื่อก่อนคำศัพท์ยากๆพวกนี้ ไม่มีประโยชน์กับเรา เราก็เลยกรองมันทิ้งไปซะ เราก็เลยสังเกตไม่เห็น  แต่ตอนนี้มันมีประโยชน์แล้ว เพราะเรารู้ความหมายแล้ว เราก็เลยมองเห็น

Norman Lewis เขายกตัวอย่างว่าคล้ายกับความคิดของเราตอนจะซื้อรถ  เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดเรื่องซื้อรถ เราก็ไม่ค่อยได้สังเกตว่าคนอื่นๆเขาขับรถอะไรกันมากน้อยแค่ไหน แต่พอเราจะซื้อโตโยต้า เราก็เริ่มเห็นรถโตโยต้าอยู่รอบๆตัวเราไปหมด ไม่ใช่ว่าคนเขามาเริ่มฮิตขับโตโยต้ากันตอนที่เราจะซื้อหรอก รถโตโยต้าก็มีอยู่ประมาณนี้แหละ เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตเท่านั้นเอง

แล้วรู้เรื่องปรากฏการณ์นี้ มีประโยชน์อะไรล่ะ ม่อนว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนได้อย่างดีเลยว่า หลายๆอย่างที่เราเคยคิดว่าเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ จะเรียนไปทำไม  จริงๆก็อาจจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ก็ได้  เราไม่มีทางรู้ได้เลยจนกว่าจะได้เรียนรู้มันแล้วจริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งที่ทำให้การเรียนภาษามีความสนุก(และสะใจ)อย่างมาก เพราะเวลาเราอ่านอะไรหรือฟังอะไรมาหลายรอบแล้ว แต่เพิ่งมาเข้าใจลึกซึ้ง เราจะเกิดอาการ “อ๋อ!” ซึ่งเป็นอะไรที่สะใจมากๆ เพราะทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนมา มีประโยชน์อย่างนี้เอง

จากประสบการณ์ม่อน พบว่าปรากฏการณ์นี้มันไม่ได้เกิดเฉพาะตอนผ่านศัพท์GREยากๆอย่างเดียวนะ มันเกิดมานานแล้วตั้งแต่ตอนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษบ้าง ตอนเริ่มฟังรู้เรื่องบ้าง  ตอนเริ่มอ่านภาษาอังกฤษรู้เรื่องบ้าง เป็นขั้นๆไปเหมือนบันไดแห่งการเรียนรู้ที่ให้เราก้าวขึ้นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ

More To Explore