เวลาที่เด็กๆเรียนภาษาเนี่ยซับซ้อนกว่าที่เราคิดกันเยอะนะคะ ปกติเรามักจะเข้าใจกันว่าเด็กเล็กๆเรียนภาษาจากการที่ได้ฟังซ้ำๆจนรู้เรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าเด็กๆจะแค่จำสิ่งที่ได้ยินเท่านั้น แต่ยังมีการสังเกตและจับรูปแบบของภาษา เช่น อย่างภาษาไทย เราพูดว่า “แมวสีขาว” “หมาตัวใหญ่” พอได้ยินหลายๆครั้งในหลายๆประโยค ในสมองเด็กๆจะจับหลักได้ว่า เราจะนำคำขยายไปไว้ข้างหลังคำนาม แต่ว่าไม่ใช่ว่าเด็กๆจะตัั้งใจคิดจับหลักภาษาแบบรู้สึกตัวนะคะ มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองโดยที่เราไม่รู้ตัว บางครั้งกฏหรือหลักที่เด็กๆคิด ก็อาจจะผิด แต่พอเอามาใช้แล้วก็จะได้รับการแก้ไขจากคนที่โตกว่า ทำให้สมองเรามาปรับหลักภาษาที่เคยคิดเอาไว้ ให้ถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ
น่าทึ่งใช่ไหมคะ สมองคนเราเนี่ย เวลาเราเรียนแบบธรรมชาติก็มักจะเรียนแบบนี้ทั้งนั้น แต่พอมาเข้าโรงเรียน เราใช้วิธีกลับกัน คือ เอากฏมาสอนก่อน แล้วค่อยเอาไปใช้จนจำได้ (ลองคิดถึงเวลาที่เราเรียนเลข เรียนฟิสิกส์ หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษในโรงเรียนดูซิคะ) ทุกวันนี้ครูม่อนก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมเราถึงเรียนแบบผิดจากธรรมชาติอย่างนั้น เท่าที่สันนิษฐานเอาก็คิดว่า ถ้าเรียนแบบธรรมชาติ ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการเจอประโยคเยอะๆ เจอคำเยอะๆ จนจับหลักได้ แต่ถ้าเอาหลักมาบอกเลย จะทำให้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าจะตรงแค่ไหน บางทีเราลองกลับไปเรียนแบบธรรมชาติกันบ้่างก็อาจจะดีไม่น้อยเลย