ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเห็นว่าบ้านเรามีโปรแกรมเรียนสองภาษาเยอะมาก ถ้าเรายังไม่คิดถึงเรื่องประสิทธิภาพของโปรแกรมสองภาษา การที่บ้านเรามีโปรแกรมสองภาษามากขึ้นเยอะ มันแสดงให้เห็นถึงความเชื่อหลายๆอย่างที่บ้านเรามีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ อันที่เห็นได้ชัดเลยก็คือความเชื่อที่ว่า “จะเรียนภาษาให้เก่งได้ ต้องใช้ภาษานั้นเป็นสื่อในการเรียนการสอน”
เราลองมาคิดดูกันซิว่า ความเชื่ออันเนี่ยมันเป็นจริงแค่ไหน?
ก่อนอื่น เรามาคุยกันให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนคืออะไร Using English as a medium of instruction (การใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน) หมายถึงว่า ใช้ภาษาอังกฤษในการสอนเนื้อหาวิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
คิดกันง่ายๆนะคะว่า เราเองเคยรู้จักคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน แต่เก่งภาษาอังกฤษน่ะ มีไหม? ครูม่อนคนนึงเนี่ยแหละค่ะ ที่เรียนโรงเรียนไทยธรรมดาๆแต่ก็สามารถฝึกภาษาอังกฤษจนเก่งได้ และครูม่อนก็รู้ว่าตัวเองไม่ใช่เก่งพิเศษกว่าคนอื่นตรงไหน มีคนอีกเยอะแยะที่เก่งภาษาอังกฤษได้โดยไม่ได้เรียนหนังสือโดยเรียนแบบใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการเรียนการสอน
หลายๆคนอาจจะบอกว่า “ก็จริงนะ ที่ไม่ต้องเรียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษก็เก่งภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าได้เรียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ มันก็น่าจะทำให้เรียนภาษาอังกฤษได้ง่ายขึ้นนะ”
อ่ะ อันนี้ก็คงจะไม่เถียงค่ะ ภาษาเนี่ย ใช้เวลาเยอะ ก็น่าจะเก่งเยอะ เป็นธรรมดาใช่ไหมคะ? อันนี้เป็นcommon senseที่ใครๆก็รู้กัน แต่ถามว่าเก่งขึ้นเนี่ย เก่งขึ้นแค่ไหน? เก่งขึ้นกว่าไม่ได้เรียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษอาจจะใช่ คือ ถ้านักเรียนคนนี้ทำทุกอย่างเหมือนเดิมตลอดการเรียน แล้วเรียนด้วยภาษาอังกฤษแทนภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็น่าจะดีกว่านักเรียนคนนี้เรียนหนังสือด้วยภาษาไทย ก็น่าจะใช่นะคะ แต่ว่าถามว่า แล้วจะถือว่าใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญไหม? ครูม่อนอยากจะบอกว่า อันนี้ไม่ก็ไม่แน่หรอกค่ะ
จริงๆ เรื่องนี้เถียงกันไม่จบ แต่อยากจะให้ดูงานวิจัยในประเทศต่างๆว่า เขาได้ค้นพบอะไรกันบ้าง เรามาดูcase studiesของประเทศใกล้ๆบ้านเราก่อนแล้วกันนะคะ
ฮ่องกง อันนี้ไม่ใช่ประเทศ แต่ฮ่องกงถือได้ว่าเป็นเคสตัวอย่างเรื่องการเรียนสองภาษาเลยนะคะ ครูม่อนจะยกตัวอย่างงานวิจัยในฮ่องกงที่เปรียบเทียบระหว่างการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาแม่ซึ่งในที่นี้คือภาษาจีนกว้างตุ้ง กับการเรียนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษ งานวิจัยพบว่า นักเรียนมัธยมที่เรียนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษจะได้คะแนนและตัวชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนที่เรียนด้วยภาษาจีน ทั้งๆที่นักเรียนกลุ่มที่ได้เรียนด้วยภาษาอังกฤษ เริ่มเรียนมัธยมด้วยคะแนนที่สูงกว่านักเรียนที่ได้เรียนด้วยภาษาจีน (เพราะว่านักเรียนต้องจบประถมคะแนนสูงระดับหนึ่งถึงจะได้เรียนหนังสือชั้นมัธยมด้วยภาษาอังกฤษ) ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนกลุ่มที่เรียนวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษยังได้พัฒนาความเชื่อที่ว่าตัวเองไม่เก่งวิทยาศาสตร์ และก็เชื่อมั่นว่าตัวเองไม่เก่งวิทยาศาสตร์ มากกว่านักเรียนที่เรียนด้วยภาษาแม่ ที่เป็นแบบนี่ก็เพราะว่า เวลานักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าภาษาอังกฤษยังไม่ดี แทนที่นักเรียนจะไปคิดว่าตัวเองภาษายังไม่ดี กลับไปเชื่อว่าตัวเองไม่เก่งวิทยาศาสตร์แทน จริงๆงานวิจัยจากฮ่องกงยังมีอีกเยอะนะคะ ในวิชาอื่นก็มี เช่น คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่เอาแค่นี้ก่อนแล้วกัน สรุปงานวิจัยหลายๆงานจากฮ่องกง พบว่านักเรียนที่เรียนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษ จะทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กที่เรียนด้วยภาษาแม่ เฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ แต่จะทำคะแนนได้แย่กว่าในวิชาอื่นๆ
มาเลเซีย เพื่อนบ้านเรานี่เอง เราคนไทยก็รู้กันนะคะว่าคนมาเลเซียเก่งภาษาอังกฤษกว่าคนไทยเยอะ แต่รู้ไหมคะว่า ตอนปี 2002 ประเทศมาเลเซียเองเคยมีนโยบายที่จะให้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับประถม (ฟังดูคุ้นๆไหมคะ) แต่ว่าในที่สุดหลังจากลองและประเมินผลแล้วมา6ปี รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศล้มเลิกโครงการนี้ไปตั้งแต่ปี 2009 (มีผลปี 2012) ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง เช่น
-การสอนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษเป็นการทำให้นักเรียนบางกลุ่มเสียผลประโยชน์
-นักเรียนและครูไม่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษเพียงพอที่จะให้สอนและเรียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ
-ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการอบรมครูให้สามารถสอนวิทยาศาตร์และคณิตศาสตร์ด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
นี่ขนาดว่ามาเลเซียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน หมายถึงว่า เขาได้เริ่มใช้ภาษาอังกฤษมานานกว่าบ้านเรามากมายนัก คนของเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะสอนและเรียนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษเลย เพราะว่าการเรียนวิชาการโดยเฉพาะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ยากอยู่แล้ว (ว่ากันตรงๆเลยว่า เรียนด้วยภาษาแม่ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ จะให้เรียนด้วยภาษาที่สอง มันไม่ยิ่งไปกันใหญ่เหรอ)
วันนี้เอาแค่นี้ก่อนนะคะ คราวหน้าเรามาดูเคสที่ใครๆก็ต้องพูดถึงเวลาพูดเรื่องการเรียนสองภาษา ซึ่งก็คือ สิงค์โปร์ ค่ะ ส่วนใครที่เคยเรียนหนังสือที่ฮ่องกงหรือมาเลเซีย มีประสบการณ์ยังไงบ้างคะ
References
Malaysia
Gill, Saran Kaur. (2012). The Complexities of Re-reversal of Language-in-Education Policy in Malaysia. 1, 45-61. doi: 10.1007/978-94-007-4578-0_4
Hong Kong
Lo, Yuen. Yi, & Lo, Eric Siu Chung. (2013). A Meta-Analysis of the Effectiveness of English-Medium Education in Hong Kong. Review of Educational Research, 84(1), 47-73. doi: 10.3102/0034654313499615
Lo, Yuen Yi, & Macaro, Ernesto. (2012). The medium of instruction and classroom interaction: evidence from Hong Kong secondary schools. International Journal of Bilingual Education and Bilingualism, 15(1), 29-52. doi: 10.1080/13670050.2011.588307
Yip, D.Y., & Tsang, W.K. (2007). Evaluation of the effects of medium of instruction on the science learning of Hong Kong secondary students: Students’ self concept. International Journal of Science and Mathematics Education, 5(3), 393-413.