สิงคโปร์เป็นประเทศที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดการเรียนสองภาษา ภาษาที่ถือว่าเป็นภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่คือภาษาจีน ภาษามาเลย์ และ ภาษาทมิฬ สิงคโปร์ได้จัดให้การศึกษาส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการสอน สิงคโปร์ถือว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง คือ ไม่ได้เป็นภาษาของคนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ซึ่งการตัดสินใจนี้ ส่วนหนึ่งคือทำเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในประเทศที่มีคนที่มีความหลากหลายมาก
สิงคโปร์จัดให้มีการสอนภาษาท้องถิ่นอีกสามภาษาเป็นวิชาแยกต่างหาก ดังนั้นนักเรียนจะได้เรียนภาษาท้องถิ่นหรือภาษาแม่ของตัวเอง ที่ใช้สื่อสารกับที่บ้าน แต่ได้เรียนน้อยเพราะเรียนแค่เป็นวิชาภาษานั้นๆ งานวิจัยที่สำรวจผู้ใหญ่ที่โตมากับนโยบายการศึกษาอันนี้ พบว่า แม้ว่าคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะถือว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่ส่วนใหญ่ก็ยังบอกว่าภาษาจีน มาเลย์ หรือ ทมิฬเป็นภาษาแม่ และงานวิจัยยังพบว่า การใช้ภาษาอังกฤษในการสอนและเรียนหนังสือ ทำให้ความสามารถในการอ่านเขียนของภาษาแม่ไม่ดีเท่าที่ควร คนสิงคโปร์ที่มีภาษาจีนเป็นภาษาแม่ จะบอกว่าถนัดฟังพูดภาษาจีนมากกว่า แต่ถ้าเป็นอ่านเขียนแล้ว มักจะใช้ภาษาอังกฤษ มีจำนวนน้อยมากที่จะเลือกใช้ภาษาจีนในการอ่านหรือเขียน
ถ้าเราไม่คิดว่าการเสียความสามารถในการอ่านเขียนภาษาแม่เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย สิงคโปร์ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเรียนสองภาษาก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ในสังคมเอเชีย แต่เราก็ต้องไม่ด่วนสรุปว่าการเรียนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษดีกว่าการเรียนด้วยภาษาแม่ เพราะว่าสิงคโปร์ไม่ได้มีกลุ่มให้เราเปรียบเทียบ นักเรียนทุกคนต้องเรียนด้วยภาษาอังกฤษหมด แม้แต่งานวิจัยที่มาจากสิงคโปร์เอง ก็ยังยอมรับว่า การเรียนสองภาษาในประเทศสิงคโปร์ถือว่าประสบความสำเร็จก็จริง แต่เราก็ไม่รู้ว่าถ้าปล่อยให้นักเรียนได้เรียนหนังสือด้วยภาษาแม่ต่อไป นักเรียนอาจจะเก่งกว่าที่เป็นอยู่นี่ก็ได้
ครูม่อนชอบศึกษาเคสสิงคโปร์มากเพราะว่าเป็นเคสที่น่าสนใจ เพราะทำให้ภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของใครเลย(ภาษาอังกฤษ)กลายเป็นภาษาหลักของชาติได้ มีไม่กี่ที่ในโลกที่ทำได้อย่างนี้ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ว่าเพราะเขาทำได้ แล้วแปลว่าการเรียนหนังสือด้วยภาษาอังกฤษจะดีกว่าการเรียนหนังสือด้วยภาษาแม่ เหมือนเราเห็นคนที่ลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร แปลว่า การอดอาหาร ดีกว่าการออกกำลังกายในการลดน้ำหนักหรือเปล่า? เปล่า เพราะว่าที่เขาทำนั้น เขาไม่ได้ลองเปรียบเทียบระหว่างอดอาหารกับออกกำลังกายนี่ มันแค่แสดงให้เห็นว่า ก็มีคนที่ลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารได้ แต่เราควรจะไปทำตามเขาหรือเปล่านั้น เราก็ต้องเอามาคิดไตร่ตรองเองด้วย ถูกไหมล่ะว่าสิ่งนั้นมันจะเหมาะสมกับเราหรือเปล่า
ครั้งหน้า เราลองมาดูตัวอย่างจากประเทศที่ไกลตัวเรากันบ้างดีกว่านะคะ คอยติดตามนะคะ
Reference
Dixon, L. Quentin. (2005). Bilingual education policy in Singapore: An analysis of its sociohistorical roots and current academic outcomes. International Journal of Bilingual Education and Bilingualism, 8(1), 25-47. doi: 10.1080/jBEB.v8.i1.pg25