วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ coding กันค่ะ
Coding (n) ในด้านสมองคือการเอาข้อมูลเข้าไปใส่ในสมอง ยกตัวอย่างประโยค เช่น The information is coded in the brain. แปลว่า ข้อมูลนี้ถูกบันทึกไว้ในสมอง
นักวิจัยพบว่าข้อมูลถูกบันทึกไว้ในสมองในแบบรูปภาพ (visual images) หรือ คำพูด (verbal units) หรือทั้งสองแบบค่ะ* นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกทั้งสองแบบ (visual images and verbal units) นั้นเป็นข้อมูลที่เรียนได้ง่ายที่สุด จึงเรียกทฤษฎีนี้ว่า dual coding theory (dual แปลว่า สอง)**
จากไดอะแกรมนี้จะเห็นได้ว่า ข้อมูลจะมาจากสองทาง คือ ภาพและคำพูด ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ก็จะมาอยู่ใน working memory ซึ่งมีความสามารถจำกัด การที่ข้อมูลทั้งสองทาง คือ ภาพและคำพูดมาอยู่ด้วยกัน ก็จะเกิดการเชื่อมโยง (connection) ทำให้ข้อมูลนี้เข้าไปอยู่ในlong-term memory เป็นความรู้ (knowledge) ได้ง่ายขึ้น
เราจะเอาความรู้นี้มาช่วยในการเรียนภาษาได้อย่างไรบ้าง? ก็ง่ายๆเลยค่ะ เวลาจะจำอะไร เราก็ใช้ทั้งรูปภาพและคำพูดมาช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่าง
เราไปอ่านเจอคำว่า quiant เราไม่รู้ความหมาย ก็ไปเปิดดู
Quaint (adj) ซึ่งมีเสน่ห์แบบโบราณๆ
Quaint (adj) attractively unusual or old-fashioned
เราก็ท่องไป แต่มันก็ยังไม่ชัดเจน ใช้google ช่วยหารูปเลยค่ะ
พอเห็นรูปปุ๊ป เราก็พอเข้าใจมากขึ้น ทีนี้เวลาท่องจำคำนี้ก็จะจำได้ง่ายขึ้นเยอะ
ปกติเวลาท่องศัพท์เรามักจะท่องแค่ คำและความหมาย ถ้าเราใช้รูปภาพมาช่วยด้วย จะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ แม้แต่ทุกวันนี้ครูม่อนเองก็ยังใช้วิธีนี้ เวลาอ่านเจอคำไหนไม่รู้ก็เปิดหาทั้งความหมายที่เป็นคำพูดหรือตัวหนังสือ และหารูปภาพค่ะ
References
*Paivio, A. (2006). Mind and its evolution; a dual coding theoretical interpretation. Mahwah, NJ: Erlbaum.
**Butcher, K. R. (2006). Learning from text with diagrams: Promoting mental model development and inference generation. Journal of Educational Psychology, 98, 182-197.