2 วิธีช่วยเพิ่มไอเดียในการ เขียน Academic Writing
เคยไหมคะที่ต้อง เขียน งาน ไม่ว่าจะเป็นการบ้าน, งานวิจัย, รายงานที่ทำงาน หรือแม้แต่อีเมล์ คิดไม่ออก ไม่รู้จะเขียนอะไรดี
ครูเองเคยผ่านมาก่อน เพื่อนๆ ที่เรียนปริญญาเอกด้วยกันก็เป็น แม้กระทั่งตอนนี้ครูก็ยังเป็น (อย่างเขียนอีเมล์นี้ ก็ไม่ใช่ว่านั่งหน้าคอมแล้วเขียนออกเลยนะ)
แล้วเราจะแก้อย่างไรดี?
เรามาดูสาเหตุกันก่อนดีกว่าค่ะ ว่าเขียนไม่ออกเพราะอะไร…
เหตุผลที่ขาดไอเดียเวลา เขียน
1. ไม่รู้ว่าต้องเขียนไปทำไม
ข้อนี้เหมือนจะรู้กันอยู่แล้ว แต่เชื่อไหมคะว่าเวลาเขียน เราไม่ค่อยจะนึกถึงกัน เขาสั่งมาก็เขียนๆไป แต่จริงๆไม่แน่ใจว่าเขียนไปทำไม ไม่แน่ใจว่าเป้าหมายคืออะไร ครูมีหลักง่ายๆที่ช่วยเวลาต้องการเขียนให้ตรงประเด็นมากขึ้น
จำหลัก PAC ค่ะ เป็นตัวย่อของ
P = Purpose คือ จุดประสงค์ของงานเขียน เช่น ต้องการให้ความรู้กับคนทั่วไป หรือ ต้องการสอบให้ได้คะแนนดี เป็นต้น
A = Audience คือ ผู้อ่าน เราต้องรู้ว่าคนอ่านคือใคร เขามีความรู้มากน้อยแค่ไหน ใช้ภาษาอย่างไร
C = Context คือ บริบท เช่น เขียนเพื่อส่งอาจารย์ เขียนสอบโทเฟล เป็นต้น ถ้าเราเข้าใจจุดประสงค์ก็จะเขียนได้ตรง
อย่างครูเขียนโพสต์นี้ก็เพื่อ
Purpose ให้ความรู้เรื่องการเขียน เพื่อช่วยให้คนอ่านเขียนได้ตรงประเด็นมากขึ้น นึกเรื่องที่เขียนให้ออกได้ง่ายขึ้น
Audience คนอ่านเป็นคนไทยที่ต้องการพัฒนา Writing
Context เขียนอีเมล์ที่ไม่เป็นทางการ
อย่างตอนที่ครูเขียน Dissertation Proposal
Purpose คือ อธิบายให้อาจารย์เห็นว่าหัวข้อที่เราเลือกคืออะไร ทำไมเรื่องนี้เหมาะแก่การทำวิทยานิพนธ์
Audience คณะกรรมการวิทยานิพนธ์ที่อยู่ในสาขาเรียน
Context วิชาการ ภาษาทางการ สำหรับโปรแกรมเรียนปริญญาเอก
เมื่อเราเข้าใจ PAC เราก็จะนึกเนื้อหาได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ Purpose ถ้าเราคำนึงถึงจุดประสงค์อยู่เสมอเวลาเขียน เราก็จะไม่นอกเรื่อง ได้ผลตามต้องการ
2. ไม่เข้าใจเนื้อหา
อันนี้มักจะเป็นเพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เราจะเขียนดีพอ แม้กระทั่งคนที่เขียนวิทยานิพนธ์ซึ่งมีความรู้สาขานั้นเยอะ แต่บางทีก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรขึ้นก่อน เรื่องอะไรที่ต้องเขียนให้คนอ่านเข้าใจบ้าง เป็นต้น
วิธีแก้มีหลายเทคนิค วันนี้ขอเสนอเรื่อง Pre-writing คือ การเตรียมตัวก่อนเขียนจริง
เราไม่ค่อยได้เรียนกันว่าเวลาจะเขียนอะไรต้อง Pre-writing ก่อน ปกติแล้วก็นั่งหน้าคอมแล้วเขียนเลย
จริงๆ แล้ว Pre-writing สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนการรวบรวมและเรียบเรียงความคิดของเรา พอเรารู้คร่าวๆ ว่าจะเขียนเรื่องอะไร การร่างจะง่ายขึ้นมากค่ะ
ไอเดียการ เขียน Pre-writing
- Brainstorm ด้วย Bullet Points คือ การลิสต์เนื้อหาหรือหัวข้อออกมาเรื่อยๆ ยังไม่ต้องคิดว่าจะเอามาใช้หรือไม่ ให้เขียนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ไอเดียออกมาให้มากที่สุด
- Diagram คือ เขียนเป็นไดอะแกรม โยงไอเดียเชื่อมต่อกันไป
- Freewriting คือ การเขียนฟรีสไตล์ ว่าง่ายๆ คือ เขียนไปเรื่อยๆ เหมือนพูดกับตัวเอง เพื่อให้ได้ไอเดียออกมา ถ้าใครไม่ถนัดเขียนจะใช้วิธีพูดแล้วอัดเสียงเอาก็ได้แล้วค่อยมาฟังแล้วจดอีกรอบ แต่ครูคิดว่าเขียนเอาเลยจะง่ายกว่าค่ะ
พอได้ไอเดียแล้วค่อยมาเลือกอีกที แบบนี้ง่ายกว่านั่งเขียนเลยค่ะ
หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้เขียนได้ง่ายขึ้นนะคะ 🙂
สามารถเข้าไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Academic Writing เพิ่มเติมได้ที่หน้าเว็บ หรือบน Facebook ของครูได้เลยค่ะ ที่ Smart writing ครูม่อน ดร.ณัฏฐ์ภัทร์ ชาญเชาวน์กุล