สิ่งหนึ่งที่ม่อนได้รับจากการเรียนที่ฮาร์วาร์ด คือ วิธีที่เรามองความสามารถของคนในการเรียนรู้ค่ะ ในโรงเรียนหรือในวงการการศึกษา มักจะหนีการlabelไม่พ้น บางคนอาจจะโดนคนอื่นมองว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง บางคนอาจจะโดนว่าเป็นคนหัวช้า เป็นต้น แต่ที่ฮาร์วาร์ด จะสอนว่า คนเรามีความแตกต่างกัน บางคนอาจจะไม่เก่งด้านการเรียนแต่เก่งด้านดนตรี บางคนเก่งด้านกีฬาแต่ไม่เก่งด้านภาษา คนที่ไม่เก่งเรื่องที่สอนในโรงเรียนมักจะโดนมองว่าเป็นคนเรียนช้า หรือไม่เก่ง แต่จริงๆแล้วเขามีความสามารถด้านอื่นที่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับในระบบการศึกษา หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือว่า ความฉลาดหรือความสามารถในการเรียนรู้ของคนเรานั้น ไม่ได้ถือว่ามีใครโง่หรือฉลาด เพียงแต่แตกต่างกันเท่านั้นเอง ไม่ต่างอะไรกับการที่คนมีสีผิวต่างกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนสีผิวไหนดีกว่าสีผิวไหน เพียงแต่แตกต่างกันเท่านั้นเอง เมื่อมองอย่างนี้แล้ว เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาของคนคนนั้นนะคะ เพราะว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนคนนั้นถูกมองว่า ตัวเองไม่ฉลาด ตัวเองเรียนช้า มันจะส่งผลต่อการพัฒนาของเขาด้วย เมื่อเขาคิดว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง ก็เป็นไปได้มากที่เขาจะพยายามน้อยลง หรือหมดกำลังใจในการเรียนไปเลย การที่เราไม่labelว่าใครเป็นพวกไหน เพียงแต่เรายอมรับว่าคนเราแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าใครดีกว่าใครนั้น นอกจากจะเป็นการลดความขัดแย้งได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งการมองคนแบบนี้ยิ่งจำเป็นมากสำหรับครู อาจารย์ และผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กๆค่ะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสำคัญกับการมองตัวเองด้วยค่ะ ถ้าเรามองเห็นว่า เราเพียงแต่แตกต่างจากคนอื่น เราอาจจะมีความสามารถบางอย่างไม่เก่งเท่าคนอื่น ก็ไม่ใช่ว่าจุดนั้นจุดเดียวจะแปลว่า เราไม่ฉลาด เพียงแต่ว่า คนเราแตกต่างกันเท่านั้นเองค่ะ ถ้าอยากจะพัฒนาความสามารถด้านไหน เราก็สามารถเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งด้านไหน ชอบวิธีการเรียนรู้แบบไหน แล้วก็พัฒนาตัวเองขึ้นตามนั้น แทนที่จะยอมแพ้แล้วคิดว่าตัวเองไม่มีทางเก่งได้ค่ะ