สวัสดีค่ะ วันนี้ครูม่อนอยากมาแนะนำเทคนิคดีๆ 3 ข้อ เพื่อช่วยให้นักเรียนเลือกคำมาใช้ในบทความหรืองานเขียนเชิงวิชาการได้ดีขึ้น ครูเชื่อว่าเทคนิคเหล่านี้น่าจะช่วยนักเรียนได้ทุกระดับตั้งแต่ผู้เริ่มต้น จนถึงคนที่เขียนเก่งอยู่แล้ว เพราะแม้ว่าคำที่เลือกมาใช้อาจจะไม่ผิดหลักวิชาการหรือแกรมม่า แต่บางครั้งอาจดูแปลกๆในสายตาของนักเขียนที่เป็น native speaker นั่นเป็นเพราะคำเหล่านั้นมักไม่ค่อยปรากฎในโครงสร้างประโยคนั้นๆ วิธีแก้นั้นก็ง่ายมากค่ะ
ครูได้สรุปมาทั้ง 3 ข้อจะมีอะไรบ้างนั้น ลองอ่านและชมวิดีโอได้เลยค่ะ
เทคนิคที่ 1. เลือกดิกชันนารีได้ดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง!
เคยไหม? เปิดดิกชันนารีเท่าไหร่ ก็ยังไม่รู้ความหมายอยู่ดี ทำให้การอ่านหนังสือหรือเขียนงานต้องสะดุด เพราะกลัวว่าจะใช้คำผิดความหมาย ซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของผู้เรียน หนังสือ หรือว่าใคร แต่เป็นเพียงสัญญาณเตือนว่าดิกชันนารีที่ใช้ อาจยังไม่เหมาะสมกับทักษะภาษาของผู้เรียน ถึงเวลาต้องเปลี่ยน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้เรียนที่ถือว่าเป็นมือใหม่ ควรเริ่มต้นเรียนรู้ไปกับ “Learner’s Dictionary” ตัวช่วยดี ๆ ที่จะทำให้รู้ทั้งความหมายและลักษณะคำได้ละเอียดกว่าดิกชันนารีทั่ว ๆ ไป เพราะรวบรวมทุกอย่างมาไว้ในเล่มเดียว ไม่ว่าจะเป็น.
- Part of Speech
- Register (formal VS informal)
- Meaning(s)
- Examples
- Derivatives
- Grammatical environment รวมถึง..
- ภาษาที่ใช้กับบริบทการพูดจริงในปัจจุบัน (Corpus – based) ด้วยค่ะ
เทคนิคที่ 2. เข้าใจรายละเอียดของคำ (มากกว่าความหมายหรือคำแปล)
การที่จะทำให้งานเขียนถูกต้องและสวยงามได้นั้น สิ่งสำคัญคือต้องเลือกใช้คำให้ถูกความหมายและบริบท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป ถ้าเรารู้จัก “ลักษณะของคำ” ว่ามีอะไรบ้างและทำหน้าที่อย่างไร เช่น..
- Connotation คำนั้นให้ความหมายในเชิงบวกหรือลบ
- Register ใช้กับระดับภาษาใด
- Collocation ใช้คู่กับคำว่าอะไรบ้าง
- Word Form or Derivatives ต้องเปลี่ยนท้ายคำอย่างไร
- Grammatical Environment มีโครงสร้างประโยคใดที่อยู่หน้า – หลัง
เทคนิคที่ 3. ใช้ Thesaurus ให้คล่อง เพื่อให้เลือกคำที่สื่อความหมายได้อย่างที่ตั้งใจ
หนึ่งในเทคนิคที่นักเขียนมักจะใช้กัน คือเลือกใช้ Synonyms (คำพ้องความหมาย) จากดิกชันนารีประเภท Thesaurus มาแทนที่คำซ้ำ เพื่อทำให้ความหมายชัดเจนมากขึ้น
แต่รู้หรือไม่ว่าในภาษาอังกฤษ แทบจะไม่มีคำใดที่ความหมายเหมือนกัน 100% ดังนั้น Thesaurus จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่สามารถช่วยค้นหาคำหรือวลีที่มีความหมายใกล้เคียงคำเดิมได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของงานเขียน จึงเหมาะกับคนที่รู้จักคำศัพท์ต่าง ๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่นึกคำในตอนนั้นไม่ออก
ครูม่อนหวังว่านักเรียนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยจากเทคนิค 3 ข้อนี้นะคะ หากมีคำถามอะไรเกี่ยวกับเทคนิคการเลือกใช้คำ หรือการเขียนงานภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ สามารถสอบถามครูได้โดยตรงเลยนะคะ สวัสดีค่ะ