fbpx

เรียนภาษาแบบธรรมชาติ ทำได้จริงไหม?

Share This Post

Share on email
Share on facebook
Share on twitter

หลายๆคนบอกว่าให้เรียนภาษาแบบธรรมชาติ คือ ไม่ต้องไปตั้งใจเรียนแกรมมงแกรมม่าอะไร ไม่ต้องท่องศัพท์ อันนี้ครูเข้าใจนะว่าสังคมเราเริ่มคิดแบบนี้เพราะอะไร 

มันเป็นการตอบโต้จากระบบวิธีการเรียนแบบเก่าที่เอาแต่เรียนแบบท่องจำอย่างเดียวซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เก่งภาษา ทำให้หลายๆคนก็มาโชว์ว่าเก่งภาษาได้นะ ไม่ได้ท่องแกรมม่าไม่ต้องท่องศัพท์

แต่ถ้าเป็นเรื่องการเขียนล่ะ เรียนแบบธรรมชาติเป็นยังไง? มีใครเคยทำได้บ้าง? 

 

ครูม่อนเชื่อทั้งจากประสบการณ์และจากงานวิจัยว่าเขียนให้เก่งแบบธรรมชาตินั้นไม่มีอยู่จริง

เพราะว่า writing และ reading เป็นสิ่งที่คนประดิษฐ์ขึ้นมา It’s a human invention. มันไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ ภาษาพูดนั้นเป็นธรรมชาติของคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ยุคสมัยไหน ถ้าเติบโตในสังคมมนุษย์แล้วเด็กจะพูดได้ทุกคน

แต่ภาษาเขียนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะภาษาอะไร เด็กและผู้ใหญ่ก็ต้องเรียน คือ ต้องตั้งใจเรียน ไม่ใช่ว่าอยู่ในสังคมที่คนอื่นอ่านเขียนกันแล้วเราจะอ่านเขียนได้เลย 

ฉะนั้นการเรียนwritingแบบธรรมชาติได้นั้น ไม่มีอยู่จริง

เราโตมากับภาษาไทย ถามว่าเราต้องเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไหม หรือว่าที่บ้านอ่านเขียนได้แล้ว เราก็ซึมซับไปได้เลย?หลายๆคนอาจจะพอจำได้ว่าขนาดเรียนภาษาไทย ตอนแรกๆเรายังว่ายากเลย (ครูเป็นอย่างนั้นนะ เรียนอ่านตัวอักษรภาษาไทยนี่ไม่ใช่ง่ายเลย T_T ) แล้วภาษาที่สองที่สามอย่างภาษาอังกฤษ จะมาหวังให้เก่งเองได้เหรอ? หวังลมๆแล้งๆหรือเปล่า?

เคยได้ยินคนบอกว่า “อ่านเยอะๆก็เขียนเก่งเอง” ไหม

ครูก็เคยเชื่ออย่างนี้นะ อ่านเยอะเลย เยอะมาก ปีนึงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมากกว่าร้อยเล่มมาหลายปี ถามว่าเขียนดีขึ้นไหม? มันก็มีบ้าง คำศัพท์เราเยอะขึ้น เราชินกับcollocations แต่ถามว่าเขียนเก่งไหม? ก็ไม่นะ 

ฝึกอ่านมาหลายปีนะ ก็กะว่าให้มันเขียนเก่งขึ้นเอง แล้วเป็นไงล่ะ เวลาต้องใช้จริงตอนเรียนปริญญาโท ก็ซึมไปเลยเพราะเขียนไม่ได้

เจ็บแล้วถึงเข้าใจว่า จะหวังให้อ่านเยอะๆ แล้วให้เขียนเก่งอัตโนมัติไม่ได้ มันต้องตั้งใจฝึกเขียนถึงจะเก่งจริง

อย่าเข้าใจผิดนะคะ ครูไม่ได้บอกว่าการอ่านไม่มีผล แต่ คนจะเขียนเก่งได้ต้องอ่านเยอะ แต่อ่านเยอะอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เขียนเก่ง

ทุกวันนี้พูดตรงๆ ครูม่อนเขียนภาษาไทยไม่เก่ง โตมาก็อ่านหนังสือภาษาไทยเยอะนะ แต่เขียนไม่เก่งเพราะไม่ได้ฝึกเขียน

ถ้าอยากเขียนเก่งจริง ต้องฝึกเขียน 

If you want to write well, write. 

เรียนฟังพูดแบบธรรมชาติทำได้ แต่อ่านเขียนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย 

แต่ฝึกเขียนมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด ไม่ต้องได้แกรมม่าเป๊ะๆทุกข้อ ไม่ต้องรู้คำศัพท์มากจนเว่อร์ (ขนาดศัพท์TOEFL IELTS ที่ท่องๆกัน ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาเขียนให้เป็นทุกคำเลย)

สิ่งสำคัญคือ รู้ว่าหลัก หรือ core ของการเขียนคืออะไร ถ้าใครรู้จักกฏ 80/20 จะรู้ว่ามีสิ่งที่เราทำ 20%  ที่ให้ผลลัพธ์ได้ 80%  หน้าที่ของเราคือ หา20% นั้นให้เจอ แล้วtake action

 

20% ของแต่ละคนอาจจะต่างกันไปบ้าง ในที่นี้ครูจะขอยกตัวอย่างที่ครูเจอบ่อยๆทั้งในฐานะนักเรียนและผู้สอน

  1. เข้าใจ writing process 
  2. แก้เนื้อหาก่อนแก้ภาษา (focus on content before language)
  3. เขียนเน้นสื่อความหมาย (ไม่เน้นที่ความยาว)
 
ต้องเข้าใจ writing process 

ปัญหาที่เจอคือ ไม่รู้จะเริ่มยังไง อันนี้เป็นกันแทบทุกคน ขนาดเจ้าของภาษาถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนก็ยังเจอเลย อันนี้แก้ง่าย เพียงรู้ว่า writing process นั้นประกอบไปด้วย 

Have a clear objective → pre-write → draft → revise → edit → proofread

สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่า ต้องวนไปวนมาระหว่างขั้นตอนหลายรอบมากกว่าจะได้ final version  เมื่อเข้าใจ writing process ก็จะทำให้เรา frustrated น้อยลง จัดเวลาได้ดีขึ้น นำไปสู่การเขียนได้ดีขึ้น

 

แก้เนื้อหาก่อนแก้ภาษา  (focus on content before language)

เรามักจะถูกสอนให้แก้ภาษา แก้แกรมม่าเป็นหลัก เพราะว่ามันสอนง่าย สอนให้นักเรียนแก้แกรมม่านั้นไม่ยากเท่าสอนให้เขียนเนื้อหาได้ดี เพราะฉะนั้นเราก็ชินกันว่า การแก้งานเขียนคือการแก้แกรมม่าแก้คำศัพท์

ความจริงนั้นตรงกันข้ามเลยค่ะ

จริงอยู่ แกรมม่านั้นเราก็ต้องแก้ แต่แก้ทีหลังเลย ครูว่าเขียนไปแล้ว 80-90% ค่อยมาแก้ภาษา ถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะสื่ออะไรกันแน่ เราจะแก้ภาษาไปทำไหม เราคงเคยได้ฟังคนพูด speech ต่างๆ ที่ภาษาสละสลวยเหลือเกิน แต่พอฟังเสร็จแล้ว เราไม่เห็นรู้ว่าเราได้อะไร

การเขียนก็เหมือนกันค่ะ 

แก้เนื้อหาก่อนแล้วค่อยแก้ภาษา ประหยัดเวลาเขียนได้อย่างน้อยสองเท่า 

 

เขียนเน้นสื่อความหมาย (ไม่เน้นที่ความยาว)

เรามักจะคิดกันว่าประโยคที่ดีคือประโยคที่ยาวๆ complex อันนี้ครูคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเชื่ออย่างนี้ก็เพราะลักษณะของภาษาไทยคือ เขียนยิ่งยาวยิ่งดี แต่ภาษาอังกฤษไม่ใช่แบบนั้น ยิ่งเป็นการเขียน business หรือ academic ยิ่งต้องเขียนกระชับ การเขียนประโยคยาวเกินไปทำให้ความหมายสับสนคลาดเคลื่อน

เวลาครูโค้ชนักเรียนที่เขียนงานปริญญาโทปริญญาเอก สิ่งที่ได้ยินบ่อยมากคือ 

“ถ้าเขียนสั้นๆ เดี๋ยว word count ไม่ถึงค่ะ”

“ตัดอันนี้ไม่ได้ครับ เดี๋ยวไม่ถึงสิบหน้าที่อาจารย์สั่ง”

แต่ถ้าสิ่งที่เขียนมันไม่ได้ตรงกับสิ่งที่อาจารย์สั่ง หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ มันจะไปมีประโยชน์อะไรคะ ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัย สิ่งที่ทำให้คะแนนตกอย่างหนึ่งเลยคือ เขียนไม่ตรงเรื่องที่สั่งนะ ถ้าอาจารย์สั่งให้เขียนสิบหน้า แล้วเราเขียนไปสิบหน้า แต่ถูกหัวข้ออยู่แค่ 2 หน้า เทียบกับคนที่เขียน 8 หน้า แต่เขียนตามเรื่องที่สั่ง เราก็คงจะเดาได้ว่าอันไหนจะได้คะแนนมากกว่า

ส่วนเรื่อง sentence level  แน่นอนว่างานเขียนที่ดีต้องมีทั้งประโยคสั้นและยาว แต่ปัญหาที่เจอบ่อยเวลาเขียนประโยคยาวคือ ความหมายไม่ชัดเจน ทำให้คนอ่านงง  เช่น ไม่รู้ว่า clause นี้ขยาย noun ตัวไหน 

แนะนำหลักง่ายๆ สองข้อ คือ 

  • ถ้าเราเขียนให้สั้นได้แล้วความหมายเหมือนกัน ให้เลือกประโยคที่สั้นกว่า
  • ถ้าจะเขียนประโยคยาว เวลา revise หรือ edit ให้วิเคราะห์ประโยคดูว่าอะไรเป็นประโยคหลัก อะไรเป็นประธาน คำไหนขยายอะไร ถ้าเราตอบตัวเองไม่ได้ให้แก้ประโยคนั้น

ลองดูตัวอย่างการวิเคราะห์ประโยคและวิธีแก้ไข

ตัดคำและวลีที่มีความหมายซ้ำซ้อน redundant words and phrases

participial phrases และ dangling modifiers

 

หวังว่าคำแนะนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์นะคะ 

ถ้าเจอว่าเราไม่ได้ทำสามอย่างนี้เลยก็ Don’t beat yourself upนะ คนหัดเขียนเป็นกันทุกคน เป็นเรื่องปกติมาก หัดแก้ให้เป็นตั้งแต่ตอนนี้แล้วเราจะเขียนเก่งขึ้นแน่นอนค่ะ อย่าเสียเวลาลองผิดลองถูกหลายๆปีแบบครูนะจ้ะ  🙂

More To Explore