ความสุขจากความสำเร็จ
บ่อยครั้งที่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ทำให้เราหลงลืมไปว่าความสุขและความสำเร็จที่แท้จริงมาจากไหนกันแน่ เคยอยู่หรอกที่เราตั้งใจทำให้ดีที่สุด ด้วยความหวังที่จะให้ตัวเองเก่งขึ้น เป็นคนดีขึ้น มีความสุขขึ้น โดยไม่ได้จะไปเปรียบเทียบกับใคร แต่หลายๆครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมันตอกย้ำให้เราเชื่อมั่นว่า ถ้าเราไม่ได้ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น หรือถ้าเราไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนอื่น แล้วเราก็ล้มเหลว ลองนึกย้อนดูจริงๆจะเห็นว่า แม้แต่ตอนที่เราทำในสิ่งที่คนอื่นเขาเห็นว่าประสบความสำเร็จ เราก็ไม่ได้มีความสุขหรือรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จกว่าคนอื่นหรอก แต่เรารู้สึกดี เพราะว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้ต่างหาก เพราะว่าเราได้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น จนได้ทำในสิ่งที่เราฝันไว้ เมื่อเริ่มต้นใหม่ บนหนทางที่ดูยาวไกล หนทางที่เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบและแข่งขัน มันทำให้เราลืมไปว่า ความสุขและความภูมิใจจากความสำเร็จ ไม่ได้มาจากการเอาชนะคนอื่น
เป็นนักเรียนก็ต้องรู้สึกโง่บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
เวลาที่เรียนหนักๆ เดี๋ยวก็มีงานนู่น ควรส่งอันนี้ อาจารย์จะให้ส่งเดี๋ยวนี้ แลปก็ยังไม่เสร็จ พออะไรๆมันรุมเร้าเข้ามาเยอะๆ รู้สึกว่าตัวเองโง่ขึ้นจมเลย แต่ได้อ่านบทความให้ข้อคิดที่ดีมากว่า เวลาเราเป็นนักเรียนเนี่ย รู้สึกโง่ก็ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน ก็เพราะเรามาเรียนนี่หน่า เป็นนักเรียนก็ต้องรู้สึกอย่างนี้เป็นธรรมดา ถ้ารู้หมดแล้วจะมาเรียนทำไมล่ะ ซึ่งก็จริงแหละนะ พอเรียนสูงๆเข้า มักจะลืมไปว่าเราเป็นนักเรียน เพราะใครๆจะบังคับผลักดันให้เราทำงานให้ดี ให้เก่งเลิศ เราก็คิดว่าจะต้องทำให้ได้แบบนั้นเสมอไป แต่จริงๆแล้ว ไม่ว่าใครก็ทำไม่ได้ดีหมดทุกอย่างหรอก เพราะอย่างนี้ถึงได้มาเรียนอยู่นี่ไง คิดแบบนี้แล้วก็คงรู้สึกดีขึ้นบ้างนะ ว่าจริงๆแล้วเรากำลังอยู่ในช่วงการเรียนรู้ เป้าหมายไม่ใช่ว่าทำทุกอย่างได้ให้ดีเลิศ
วิธีทำให้เก่งรอบด้าน
ถึงแม้ว่าความเชี่ยวชาญในด้านนึง จะไม่ได้ทำให้เชี่ยวชาญในอีกด้านนึงเสมอไป แต่เราก็คงเคยเห็นคนที่เรียนหนังสือเก่งๆ แล้วมักจะไม่ได้เก่งวิชาเดียว แต่เก่งเกือบทุกวิชา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ? Metacognition เป็นทักษะทั่วไป(ไม่เฉพาะสาขา) ที่เราใช้ในการเรียนหรือการแก้ปัญหา เช่น ทักษะในการหาข้อมูลแล้วนำมาตอบปัญหา ทักษะในการวัดและปรับความสามารถของตัวเอง ทักษะในการที่รู้ว่าตัวเองเรียนได้ดีแบบไหน เป็นต้น คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง ก็อาจจะมีทักษะ metacognition อยู่เยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ช่วยให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆได้ ถ้าให้คนคนนี้ไปเริ่มเรียนสาขาใหม่ พร้อมกับคนที่ไม่เคยฝึก metacognition หรือไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาอะไรเลย กรณีอย่างนี้ คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาหนึ่งมาก่อนก็จะได้เปรียบกว่าตรงนี้คะ
เป็นอัจฉริยะจากการฝึกทำปริศนาปัญหาเชาวน์ (puzzle)- (3)
ถ้ารู้ด้วย common sense ว่าคนเก่งอีกด้านไม่จำเป็นต้องเก่งอีกด้านเสมอไป แต่เราก็ยังเชื่อว่าการเล่นปัญหาปริศนาจะทำให้เราฉลาดได้ ครูม่อนเองก็เคยคิดอย่างนั้นเหมือนกันคะ ก็เล่นไปลับสมอง ก็น่าจะเก่งขึ้น การเล่นเกมส์ปริศนาบ่อยๆ จะทำให้เราเล่นเกมส์นั้น หรือแก้ปัญหาแบบนั้นเก่งขึ้น แต่ไ่มได้ทำให้เราเป็นอัจฉริยะขึ้นมาหรอกนะคะ (ในทางกลับกัน คนที่แก้เกมส์ปริศนาได้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอัจฉริยะเสมอไป) มีงานวิจัยในบราซิลพบว่า เด็กที่ทำปัญหาเลขบนกระดาษในห้องเรียนไม่ได้ แต่ว่าเป็นเด็กที่จนต้องขายของตลอด พอให้ทำปัญหาคล้ายกัน แต่เป็นในลักษณะการซื้อของทอนเงินกลับทำได้เก่งอย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะที่เด็กที่ทำโจทย์ในห้องเรียนได้ พอให้ไปซื้อของทอนเงินกลับทำได้ไม่ดีหรือทำไม่ได้เลย ซึ่งงานวิจัยนี้ทำให้เห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษาว่า ยังขาดการส่งเสริมให้นักเรียนนำเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆได้ รู้อย่างนี้แล้ว อยากเก่งอะไรก็หาความรู้และฝึกด้านนั้นนะคะ
เป็นอัจฉริยะจากการฝึกทำปริศนาปัญหาเชาวน์ (puzzle)- (2)
ก่อนที่จะเฉลยปัญหาครั้งที่แล้ว ครูม่อนจะขอทวนความจำที่ได้เขียนแนะนำเรื่องผู้เชี่ยวชาญ(expert)และมือใหม่(novice)เอาไว้แล้ว การเรียนนั้นก็คือการเปลี่ยนจากมือใหม่ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ความแตกต่างระหว่างมือใหม่และผู้เชี่ยวชาญนั้น ไม่เพียงแต่ปริมาณความรู้้ในสาขาเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่การจัดระบบข้อมูลในสาขานั้นๆด้วย สิ่งต่อมาที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ transfer คือการนำเอาความรู้้ที่มีอยู่ไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ (จะเป็นในสาขาหรือต่างสาขาก็ได้) ถามว่า คนที่เก่งในเรื่องหนึ่ง จะต้องเก่งในอีกเรื่องหนึ่งหรือเปล่า ลองคิดจากคนที่เรารู้จักก็ได้นะ ถ้าคนเก่งเลขจะเก่งภาษาด้วยไหม เซียนชีวะจะเก่งสังคมด้วยหรือเปล่า แค่เราลองคิดดูง่ายๆอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเลย คนที่เก่งในสาขาหนึ่งก็เพราะเขามีความรู้และประสบการณ์ในสาขานั้นเยอะ แต่ถ้าเขาไม่ได้มีความรู้ในสาขาอื่นอย่างเพียงพอเขาก็ไม่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในอีกสาขาหรอกคะ แต่เราต้องยกเว้นกรณีที่เป็นต่างสาขาก็จริง แต่มีหลายอย่างที่ใช้ความรู้และระบบความคิดร่วมกัน เช่น คนเก่งฟิสิกส์ ก็มักจะเก่งเลขด้วย
เป็นอัจฉริยะจากการฝึกทำปริศนาปัญหาเชาวน์ (puzzle)- (1)
เคยเล่นเกมส์ปัญหาเชาวน์กันไหมคะ? โดยเฉพาะตอนเด็กจะชอบเล่นแก้ปัญหาพวกนี้กัน เห็นเขาว่ากันว่าฝึกสมองดี จะได้ฉลาด ว่าแต่ว่ามันทำให้ฉลาดจริงหรือเปล่านะ? ลองคิดตามนะคะ ถ้าสมมติว่าเมืองเรากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ขาดผู้นำดีๆ ประชาชนก็ไม่ปรองดองกัน กองกำลังทหารก็ไม่ใหญ่่เท่าเมืองศัตรู ซึ่งในขณะนี้ได้ล้อมเมืองเราไว้หมดเแล้ว ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของเจ้าเมือง เราต้องค้นหาคนที่จะมาช่วยวางแผนให้เมืองเรารอดวิกฤตินี้ไปได้ แต่ทว่าโชคยังดี ที่เมืองเรามีแชมป์โลกหมากรุกอยู่ เอ เห็นว่าหมากรุกนี้ต้องใช้ความสามารถในการคิดวางแผนอย่างมาก แผนต้องทั้งซับซ้อนทั้งมีเล่ห์กล อย่างนี้ถ้าเราไปขอให้แชมป์หมากรุกมาช่วยวางแผนแก้ไขปัญหาของเมืองเราก็น่าจะดีนะ เพราะเขาเป็นอัจฉริยะด้านการวางแผนคนหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าจะเป็นในเกมส์หมากรุกก็เถอะ ยังไงก็น่าจะช่วยเมืองเราได้ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของเมืองนี้ เราควรจะเชิญแชมป์โลกคนนี้มาช่วยเราดีไหม?